ความรุนแรง สื่อจอใส และความเครียดในเด็กปฐมวัย
ปัจจุบันสื่อดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของทุกคนและทุกวัย ซึ่งส่งผลเสียมากกว่าผลดีโดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้พัฒนาการของเด็กถดถอย ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจพร้อมทั้งให้ความสำคัญในการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เพื่อให้เด็กเกิดการพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ

ความรุนแรง สื่อจอใส และความเครียดในเด็กปฐมวัย
ในช่วงสถานการณ์โควิดทำให้วิถีชีวิตของทุกคนในการใช้สื่อดิจิทัลเปลี่ยนไป เด็กมีการเข้าถึงสื่อมากขึ้นทั้งจากการเรียนออนไลน์ และการเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน และพัฒนาการสำคัญ ๆ ด้านอื่น ๆ ส่งผลให้พัฒนาการเด็กถดถอย และมีปัญหาด้านพฤติกรรมมากขึ้น ยกตัวอย่างผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น
1. การใช้สื่อดิจิทัลกับพัฒนาการด้านร่างกาย เด็กจะติดอยู่กับหน้าจอทำให้ไม่ได้ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวซึ่งส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านสายตามากขึ้นจากการดูจอ
2. การใช้สื่อดิจิทัลกับพัฒนาการด้านจิตใจ เด็กจะมีความเครียดมากขึ้นเนื่องจากต้องอยู่แต่บ้าน บางรายอาจจะต้องเจอกับความสูญเสีย ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางจิตใจ และอาจมีปัญหาทางด้านอารมณ์ การใช้สื่อมากยังทำให้เด็กมีปัญหาด้านสมาธิ มีความสนใจสั้น และอาจส่งผลต่อสติปัญญา และการเรียนรู้ของเด็ก สำหรับเด็กเล็ก ๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะออทิสติก ต่อต้านมากขึ้น มีปัญหาทางด้านอารมณ์พฤติกรรมที่ก้าวร้าว
3. การใช้สื่อดิจิทัลพัฒนาการทักษะสมอง EF จะถดถอย สื่อหน้าจอที่มีความเร็ว เปลี่ยนภาพรวดเร็ว เช่น การ์ตูน ทำให้ทักษะสมอง EF แต่ละด้านลดลง อีกทั้งการใช้หน้าจอหลายจอพร้อมกัน สามารถส่งผลต่อปัญหาพฤติกรรมของเด็กในตอนโต ในปัจจุบันปัญหาที่พบมาก คือ เด็กวัย 4 - 8 ปีมีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว เอาแต่ใจจนต้องพบจิตแพทย์ซึ่งสาเหตุมาจากการดูจอ และไม่มีปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ได้โดยอาศัยความร่วมมือของคนในครอบครัว
สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เรียนรู้ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนบูรณาการกัน เมื่อเด็กได้ใช้ “ตา หู จมูก ลิ้น และมือ” ในการ “สังเกต ฟัง ดมกลิ่น สัมผัส และชิมรส” สมองจะทำหน้าที่ประมวลสิ่งที่เข้ามาผ่านทางประสาทสัมผัส และเกิดเป็นการเรียนรู้ ซึ่งผู้ปกครองสามารถพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผ่านกิจกรรมง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น
- ตา ชวนเด็กสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น ใบหน้าของตนเอง ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง สิ่งของต่าง ๆ ที่เด็กใช้ในชีวิตประจำวัน
- หู ชวนเด็กฝึกฟังเสียงต่าง ๆ รอบตัว เช่น เสียงรถ เสียงร้องของสัตว์ เสียงเครื่องซักผ้า
- จมูก ชวนเด็กดมกลิ่นของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น ดอกไม้ ขนม อาหาร และจดจำว่ากลิ่นของอะไร
- ลิ้น ชวนเด็กชิมอาหารแล้วบอกรสชาติ เช่น หวาน เค็ม จืด เปรี้ยว ขม เผ็ด แล้วใช้คำถามต่อว่า หวานเหมือนอะไรเพื่อเชื่อมโยงความคิดจากสิ่งที่คุ้นเคย
- มือ ชวนเด็กจับ สัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน เช่น นิ่ม แข็ง ขรุขระ ร้อน เย็น อุ่น
ในการดูแลเด็กเล็กกับการใช้สื่อดิจิทัล ผู้ปกครองต้องหลีกเลี่ยงการใช้สื่อเพื่อให้เด็กสงบนิ่ง และควรงดจอ และสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ก่อนอายุ 2 ปี สำหรับเด็ก 2 – 5 ปี ให้จำกัดเวลาในการใช้สื่อ และเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมกับวัยเด็ก ผู้ปกครองควรสร้างสุขนิสัยในการใช้สื่อที่ดีต่อสุขภาพ พร้อมฝึกให้เด็กควบคุมตนเองตามกฎระเบียบที่ตกลงกัน แต่ในกรณีที่เด็กติดหน้าจอจนเกิดผลเสีย ผู้ปกครองควรใช้วิธีลดปริมาณการใช้สื่อลง กำกับกฎกติกาในการใช้สื่อ พาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่ลดการใช้สื่อทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ผู้ปกครองควรใช้เวลากับเด็กมากขึ้นทั้งในการพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ การแสดงความรักกับเด็ก เพื่อช่วยสร้างความสุข และสร้างรากฐานที่มั่นคงทางจิตใจให้กับเด็ก
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์