คู่มือการจัดอบรม หลักสูตร ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กนักเรียน: “พอกันที กรูมมิ่ง”
เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องภัย “กรูมมิ่ง” การตระเตรียมเด็กเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ ให้เกิดความตระหนัก รู้ทัน และหาแนวทางป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

ความตระหนักและรู้ทันต่อภัย “กรูมมิ่ง”
กรูมมิ่ง (Grooming) คือกระบวนการเตรียมผู้ถูกกระทำให้อยู่ในสภาพที่จะไม่กล้าขัดคำสั่ง การชักจูงโน้มน้าวหรือกดดันของผู้กระทำ เพื่อนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ทำให้ผู้กระทำสามารถอ้างกับคนอื่น ๆ ว่าผู้ถูกกระทำยินยอมและเต็มใจเอง (แต่ในกรณีผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก การอ้างเหตุผลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ในทางกฎหมาย)
การตระเตรียมเหยื่อเพื่อล่วงละเมิด(grooming) มีการวางแผนไว้อย่างแยบยล ดังต่อไปนี้
- มองหาและเลือกเหยื่อ มันเลือกคนที่มีความเปราะบางในด้านต่าง ๆ เช่น โหยหาความรัก ผู้ปกครองละเลย ขาดแคลนเงิน
- สร้างความไว้วางใจ ผู้กระทำจะเฝ้าสังเกตและพยายามทำความรู้จักเด็ก รู้ว่าเด็กต้องการอะไร อาจเริ่มแนะนำ “ความลับ” กำชับไม่ให้เด็กบอกใคร ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ ได้รับความไว้วางใจ
-
ตอบสนองความต้องการ เมื่อรู้ว่าเด็กต้องการอะไรแล้วก็จะพยายามตอบสนองความต้องการนั้น เช่น แสดงความรักความเอาใจใส่ ให้ของใช้ เริ่มมีบทบาทสำคัญในชีวิตเด็ก
-
แยกเด็กออกจากผู้ดูแล ผู้กระทำอาจเสนอตัวเข้ามาดูแลเด็กเวลาที่ผู้ปกครองไม่ว่าง อาสาไปรับไปส่ง พาไปซื้อของ หรือพยายามสร้างโอกาสที่จะได้อยู่ตามลำพังกับเด็ก
-
เริ่มแสดงออกทางเพศกับเด็ก มันเริ่มจากการสัมผัสที่ดูเป็นธรรมชาติก่อน เช่น โดนตัวโดยบังเอิญ หรือการหยอกล้อเล่นกับเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคย โน้มน้าวให้เด็กเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา และไม่กล้าขัดขืน
-
ใช้การควบคุม พฤติกรรมนี้จะเกิดหลังจากผู้กระทำล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กแล้ว และต้องการที่จะทำต่อไปเรื่อย ๆ และบังคับให้เด็กทำตามความต้องการของตนเอง ใช้การข่มขู่หรือสร้างความรู้สึกผิดเพื่อบังคับให้เด็กเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ
ออนไลน์กรูมมิ่ง (Online Grooming) เป็นการตระเตรียมเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ รูปแบบเดียวกันกับการกรูมมิ่งแบบตัวต่อตัว แต่จะมีความแตกต่างที่ควรจับตามองดังนี้
- เกิดได้จากทั้งคนรู้จักและคนแปลกหน้า
- เข้าถึงเป้าหมายและไปถึงขั้นตอนท้าย ๆ ได้อย่างรวดเร็วมาก
- เกิดเหตุได้ง่ายกับทุกวัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเจริญทางไอที มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย
- ป้องกันได้ยากมาก มือถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงเป้าหมายได้ง่ายที่สุด
- ผู้เสียหายจะไม่ยอมบอกใคร และพยายามจัดการด้วยตัวเองจนทุกอย่างเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
เสริมสร้างมุมมองทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องกรูมมิ่ง
พฤติกรรมการละเมิดต่อเด็กและวัยรุ่น มีรากเหง้าอยู่ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ การกดขี่เพศหญิงโดยการสร้างความเชื่อที่ปลูกจิตสำนึกของทั้งชายและหญิง สะท้อนออกมาในวรรณกรรมและสื่อบันเทิง เช่น ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง ละครตบจูบ ข่มขืน การขายสินค้าที่มีผู้หญิงแต่งตัวเพื่อกระตุ้นความต้องการทางเพศ และผู้มีฐานะทางสังคมจำนวนมากยังนิยมพฤติกรรมการต้อนรับดูแลผู้ใหญ่ต้อง ”เลี้ยงดู ปูเสื่อ” หรือการจัดหาหญิงสาวมาให้บริการ
เราจึงควรตระหนักความสองมาตรฐานและตระหนักว่าคนจำนวนมากยังมีทัศนคติและความเข้าใจไม่ถูกต้อง เช่น เข้าใจว่าปัญหานี้รุนแรงมาก แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง เพราะเรื่องเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องสกปรก ผิดบาป เมื่อไม่มีใครพูดถึง ผู้กระทำจะฉวยโอกาสทำความผิดได้อย่างง่ายดาย
การกล่าวโทษผู้ประสบเหตุ (Victim Blaming)
สังคมไทยเป็นสังคมเชิงอำนาจนิยม ผู้ที่มีอำนาจน้อย อ่อนอาวุโส มักตกเป็นเบี้ยล่างให้กับผู้มีอำนาจมากกว่า ความคุ้นชินนี้นำไปสู่การกล่าวโทษผู้ถูกกระทำว่ามีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่อันตราย ล่อแหลม และถูกละเมิด ทำให้ผู้ถูกกระทำต้องคอยระวัง ต้องเก็บความลับ กลัวสังคมรังเกียจ ถูกกว่าหาว่าเป็นคนไม่ดี เป็นเด็กใจแตก ให้ท่าครู ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเครียด ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง กลัวถูกดุด่าหรือลงโทษ บางรายอาจจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย
สร้างเสริมทักษะการดูแล ป้องกัน และรับมือจากการถูก “กรูมมิ่ง”
การป้องกันเริ่มจากการให้ความรู้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคนทั่วไปให้ทราบถึงความร้ายแรงของปัญหา ผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำว่าส่งผลร้ายแรงต่อทุกด้านของชีวิตอย่างไร
”สอนให้เด็กตระหนักถึงสิทธิในร่างกายของตน”
เด็กทุกคนถูกสอนให้มีความละอายในอวัยวะเพศ ต้องมีการปกปิด ไม่ให้ใครแตะต้อง สัมผัส สอนให้เด็กรู้เรื่องสิทธิในร่างกายขนองตนเอง ร่างกายส่วนไหนที่สามารถเปิดเผยได้ คนทั่วไปสัมผัสได้ ส่วนไหนสามารถเปิดเผย อนุญาตได้เฉพาะคนบางกลุ่ม และร่างกายส่วนไหน เป็นพื้นที่ลับ ส่วนตัวไม่ควรเปิดเผย
สอนให้เด็กตระหนักและรับฟังความรู้สึกที่เกิดจากท่าทีการสัมผัสที่ต่างกันจากแต่ละบุคคล ให้เด็กบอกว่า แบบไหนที่ชอบ ไม่ชอบ รู้สึกปลอดภัย รู้สึกไม่ปลอดภัย และแบบไหนที่สับสนไม่แน่ใจ
การรับมือกับการสัมผัสสับสน No Go Tell
- No ปฏิเสธด้วยคำว่า “ไม่”
- GO ให้ออกจากพื้นที่ไม่ปลอดภัย เช่น วิ่งหนี
- Tell บอกกับบุคคลหรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ
พอกันทีกรูมมิ่ง
เป็นโครงการที่มีจุดประสงค์ให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคนทั่วไปรู้จักแบบแผนของพฤติกรรม “กรูมมิ่ง” สามารถหลีกหนีหรือแทรกแซง ขัดขวางเสียตั้งแต่ต้น ไม่ปล่อยให้นักเรียนหรือเยาวชนต้องตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำ
infographic คลิ๊กที่นี่ link title
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์