ถอดบทเรียน การจัดการอาหารในโรงเรียน และแนวทางการขยายผล
แนวทางการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ และแนวทางการดำเนินงานต่อ

ทำไมจึงต้องจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน
โรงเรียนเป็นสังคมเรียนรู้แรกสำหรับเด็ก ๆ จะได้ใช้ชีวิตในสถานที่ปลอดภัย ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ จะได้เรียนรู้สังคมภายนอกครอบครัวและทักษะชีวิตผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ผ่านการเล่นและการกิน ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่มุ่งหวังในการพัฒนาสมอง (Head) จิตใจ (Heart) ทักษะการปฏิบัติ (Hand) และสุขภาพ (Health)
การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนา แต่การจะเรียนรู้ศึกษาได้อย่างเต็มที่ ผู้เรียนจำเป็นจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่มีอาการเจ็บป่วย พร้อมที่จะเรียนรู้ ประเทศไทยจึงมีโครงการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนหลากหลายโครงการ เช่น โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โครงการนักเรียนไทยสุขภาพดี โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน และโครงการเด็กไทยแก้มใสฯ อาหารเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียนที่ได้รับความสำคัญอย่างมากมาโดยตลอด
ประเทศไทยดูแลจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างไร
ประเทศไทยเห็นความสำคัญของการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนมาอย่างยาวนาน โดยมุ่งเน้นที่การจัดาการอาหารกลางวันภายในโรงเรียน แต่มีอุปสรรคเรื่องงบประมาณ ต่อมามีการจัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาและโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กที่ทุพโภชนาการ และมีการระบุความสำคัญของการพัฒนาร่างกายและจิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัย ภายใต้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติพร้อมกับกฎหมายการศึกษาภาคบังคับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 3 และกำหนดโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจัดสรรงบอุดหนุนประจำปี
บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนมีมากขึ้น เมื่อมีการถ่ายโอนงบอุดหนุนประจำปีเพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันไปให้กระทรวงมหาดไทยตาม พ.ร.บ. กำหนด และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนได้รับความสนใจมากขึ้น ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการเครือข่ายเด็กไทยฟันดี โรงเรียนเด็กไทยแก้มใสฯ โรงเรียนต้นแบบนักเรียนไทยสุขภาพดี โรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวัน และการพัฒนาเครื่องมือที่สำคัญคือโปรแกรม Thai School Lunch จาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหิดลและกรมอนามัย ทำให้มีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เตรียมรายการอาหารกลางวันสามารถออกแบบรายการอาหารกลางวันที่เหมาะสมต่อคุณค่าโภชนาการ จัดเตรียมปริมาณวัตถุดิบที่เหมาะสมได้ และมีคู่มือการจัดการอาหารกลางวันนักเรียนตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหารปลอดภัยสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา
โรงเรียนจะสามารถจัดการอาหารและโภชนาการที่ดีได้อย่างไร
โรงเรียนเห็นปัญหา >> สร้างจุดเปลี่ยน >> ระดมทรัพยากร
ความตระหนักสร้างจุดเปลี่ยน
การเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน เริ่มต้นจากการที่โรงเรียนสังเกตเห็นสถานการณ์ที่เป็นไปของโรงเรียน เห็นปัญหาภาวะโภชนาการของนักเรียน หรือสภาพการจัดการอาหารในโรงเรียน โดยเฉพาะกรณีที่นักเรียนที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน และนักเรียนที่ไม่มีความรอบรู้ด้านโภชนาการ เป็นจุดกระตุ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการและสุขภาพของนักเรียน
สภาพแวดล้อมทางอาหารรอบรั้วโรงเรียน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคของนักเรียน หลายโรงเรียน ไม่สามารถจัดการควบคุมหรือขอความร่วมมือการจำหน่ายสินค้านอกรั้วโรงเรียนได้ และนักเรียนยังมีพฤติกรรมรับประทานอาหารตามชอบ อิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางอาหารรอบรั้วนี้ทำให้โรงเรียนไม่สามารถพัฒนาภาวะโภชนาการของนักเรียนให้ประสบความสำเร็จได้เต็มที่ได้
จากการสัมภาษณ์โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ พบว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจาก
- การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน
- การบริหารทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม
- โรงเรียนสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ
- มีการติดตามประเมินผลเพื่อความยั้งยืนของกระบวนการเปลี่ยนแปลง
โรงเรียนควรกำหนดนโยบายอย่างไร
โรงเรียนเริ่มต้นจากการมีความเชื่อว่า การมีสุขภาพที่ดีเป็นรากฐานของการพัฒนาสติปัญญา การเรียนรู้ และเชื่อว่าโรงเรียนควรช่วยพัฒนาทักษะชีวิตให้นักเรียน ไม่ใช่เพียงการพัฒนาทักษะวิชาการเพียงอย่างเดียว
นโยบายจากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จแล้ว แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
- การจัดการอาหารกลางวัน จัดรายการอาหารกลางวันให้เป็นไปตามเกณฑ์อาหารกลางวัน และจัดเก็บวัตถุดิบอาหารกลางวันรวมถึงนมให้ถูกสุขอนามัย
- การจัดการสภาพแวดล้อมด้านอาหาร จัดการให้อาหารในและรอบโรงเรียนเป็นอาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ
- การให้ความรู้โภชนศึกษา ให้ความรู้ในชั้นเรียนโดยบูรณาการเรื่องโภชนาการในทุกกลุ่มสาระการเรียน และให้ความรู้นอกห้องเรียนผ่านการลงมือทำกิจตามนโยบาย Active learning
- โครงการสนับสนุน จัดตั้งโครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เป้าหมายเรื่องสุขภาพของโรงเรียนเป็นจริง
ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขของโรงเรียน
อุปสรรคแรกที่โรงเรียนต้องเผชิญคือทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นด้านของงบประมาณ บุคลากร หรือความรู้ โรงเรียนเหล่านี้จึงได้รวบรวมทรัพยากรทั้งภายในและจากภายนอกเข้ามาเพื่อพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน
1. ปัญหางบประมาณของโรงเรียนและแนวทางการแก้ไข
โรงเรียนสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน รวบรวมปัจจัยสนับสนุนจากชุมชน ทั้งรูปแบบสิ่งของและรูปแบบเงินทุน จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสร้างกองทุนข้าวสารโรงเรียน การทำบุญทอดผ้าป่าและรายได้จากการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อการกุศล การเขียนโครงการขอทุนสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพตำบล รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิหรือหน่วยงานเอกชนที่เข้ามาทำกิจกรรม Corporate Social Responsibility (CSR)
2. ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและแนวทางการแก้ไข
โรงเรียนที่มีจำนวนบุคลากรจำกัดมักใช้วิธีการให้ครูทุกคนทำงานร่วมกัน พยายามบูรณาการงานให้สามารถแก้ไขหลายปัญหาได้ และชี้ให้มองเห็นปัญหาและความสำคัญเรื่องอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาร่วมกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ภายในโรงเรียน
โรงเรียนที่มีจำนวนบุคลากรเพียงพอมักมีการกำหนดหน้าที่ของครูแต่คนที่แน่นอน ตัวอย่างบทบาทหน้าที่ที่โรงเรียนกำหนด เช่น
- ผู้ดูแลโครงการอาหารกลางวัน ทำหน้าที่ดูภาพรวมการจัดการอาหารกลางวัน
- ผู้ดูแลโครงการส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียน
- ผู้ดูแลบัญชีการเงินของโรงเรียน โดยเลือกครูที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ตามประเด็นเป็นผู้ดูแลหลัก
3. ปัญหาการขาดแคลนความรู้และแนวทางการแก้ไข
-
เสนอการบรรจุตำแหน่งนักโภชนาการประจำพื้นที่
-
เพิ่มศักยภาพของคนในพื้นที่ และใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย
-
วางแผนพัฒนาบุคลากรและหลักสูตรในการสร้างนักโภชนาการประจำพื้นที่โดยเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว
4. ปัญหาการติดตามผลและแนวทางการแก้ไข
- ความทับซ้อนของตัวชี้วัดของโรงเรียน เนื่องจากขาดการบูรณาการร่วมกัน
- ควรกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมต่อบริบทพื้นที่
สำหรับการติดตามภาวะโภชนาการหรือสุขภาพของนักเรียน ควรจะเปิดเผยข้อมูล คืนข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครอง เพื่อให้เห็นปัญหาร่วมกัน และผลักดันการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้
- ปัญหาการขายอาหารมากมายรอบรั้วโรงเรียน อาศัยวิธีการทำความเข้าใจกับคนในชุมชนและให้ความรู้ในการเลือกซื้ออาหารและวิธีดูแลสุขภาพของนักเรียน
- ปัญหาการทำการตลาดของบริษัทอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในโรงเรียน อิทธิพลทางการตลาดของบริษัทอาหารที่เข้ามาในพื้นที่โรงเรียน เช่น การจัดตั้งเครื่องจำหน่ายน้ำหวานน้ำอัดลม การมอบทุนการศึกษา แจกอุปกรณ์กีฬา
ข้อเสนอแนะจากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ
แม้โรงเรียนจะมีปัจจัยกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการแล้ว แต่ยังมีปัญหาบางประเด็นที่โรงเรียนต้องการเสนอแนะ ได้แก่
- การบริหารงบประมาณอาหารกลางวัน
- ทรัพยากรบุคคล
- สภาพแวดล้อมทางอาหารและอิทธิพลทางการตลาด
- ความตระหนักและกลไกสนับสนุนและความร่วมมือ
- การแยกส่วนของนโยบายระดับประเทศ
แนวทางแก้ไขดังนี้
- การสร้างความร่วมมือของโรงเรียนกับหน่วยงานภายนอก (School Partnership)
- การพัฒนาระบบติดตามประเมินผล (Monitoring & Evaluation system)
- การพัฒนานโยบายหรือมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา (National poli cies & measures)
- การพัฒนาการหลักสูตรการศึกษา (Health Education) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างยั้งยืน
เป้าหมายของการขยายผลการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน และแนวทางที่ควรจะขยายผลต่อไป
เป้าหมายในการพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนควรมีเป้าหมายในการพัฒนาสุขภาวะของเด็กนักเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว ส่งเสริมให้คนมีทักษะในการดูแลสุขภาพไปจนโตเป็นผู้ใหญ่และสร้างครอบครัวต่อไป มีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาพื้นที่ ควรมุ่งเน้นในการประสานความร่วมมือ สร้างระบบและบูรณาการการทำงานและพัฒนาโครงสร้างระบบอาหารภายในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตัวเองได้
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์