คู่มือแนวทางการดำเนินการเกษตรในสถานศึกษา ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร
คู่มือนี้เป็นแนวทางสำหรับครูในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดินเนินกิจกรรมด้านการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยในสถานศึกษา

การจัดการด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย
ความเป็นมาของการจัดการด้านสินค้าเกษตรและอาหาร
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งต่อการดำรงสุขภาวะที่ดีของประชาชน ดังนั้น การควบคุมอาหารให้มีคุณภาพ และความปลอดภัยจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การควบคุมอาหาร ให้มีคุณภาพและความปลอดภัยยังมีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ภาวะโลกร้อน สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ข้อกำหนดด้าน การค้าระหว่างประเทศ และภัยคุกคามใหม่ๆ สามารถส่งผลกระทบต่อการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย
โครงสร้างการรจัดการความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย
การจัดการความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย ในปัจจุบันอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ ของ 2 กระทรวงหลัก ได้แก่
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตจากฟาร์มเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก
- กระทรวงสาธารณสุข ที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศและอาหารนำเข้า
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ทำหน้าที่ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร กระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายและสถานที่เก็บอาหาร
ความปลอดภัยด้านสินค้าเกษตรและอาหาร
-
ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) ความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับคุณภาพของสังคม ดังนั้น การจัดการอาหารให้ปลอดภัยมีการควบคุมอันตรายในอาหารให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ความปลอดภัยด้านอาหาร ยังเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมักถูกยกมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures and Non-Tariff Barriers) อีกด้วย โดยอันตรายในอาหารสามารถจำแนกได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ อันตรายทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ
-
การสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยอาหารให้กับผู้บริโภค
การให้ประชาชนได้รับประทานอาหารที่มีความปลอดภัยและเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยอาหารนั้น จำเป็นต้องมีการควบคุมตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การแปรรูปอาหาร การขนส่งอาหารจนถึงผู้บริโภค โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย ได้มีนโยบายในการส่งเสริมคุณภาพ และความปลอดภัยอาหารของประชาชน โดยการบูรณาการการกำหนด ตรวจสอบรับรอง ควบคุม และส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้บริโภค เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยมีตัวอย่างกิจกรรมที่ มกอช. ดำเนินการ ดังนี้
-
การกำหนดและการควบคุมมาตรฐาน
ในการจัดการความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร มกอช. ได้ดำเนินการควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ผ่านมาตรฐานสินค้า มาตรฐานระบบ และมาตรฐานข้อกำหนดทั่วไป เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัย -
การตรวจสอบรับรองมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติทำหน้าที่รับรองระบบงานให้กับหน่วยรับรอง (CB) และหน่วยตรวจ (IB) เพื่อให้หน่วยรับรองและหน่วยตรวจสามารถตรวจสอบรับรองมาตรฐานให้แก่ฟาร์ม โรงงาน และผู้ประกอบการตามขอบข่ายต่างๆ เช่น GAP, Organic, GMP, HACCP เป็นต้น
-
การส่งเสริมมาตรฐาน ในการผลักดันการส่งเสริมมาตรฐานครบวงจรตั้งแต่ผู้ผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพมาตรฐานให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรและอาหารผ่านเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q)
การจัดการเกษตรในสถานศึกษาและการทำเกษตรตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี
- การจัดการเกษตรในสถานศึกษา “เกษตรในสถานศึกษา” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนรวมกลุ่มกันเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ การทำเกษตร เช่น ปลูกพืชผัก ผลไม้ เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ฯลฯ เป็นต้น โดยการเกษตรในโรงเรียนสามารถนำหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ที่ครอบคลุมกิจกรรมทางการเกษตรในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การเก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป การจำหน่ายและการกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภค มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมการเกษตรในโรงเรียน เนื่องจากจะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัย และยังเป็นการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการผลิตตามมาตรฐานและสามารถนำไปใช้ได้อีกด้วย
การจัดการเกษตรในสถานศึกษา ต้องมีการวางแผนการดำเนินการ กำหนดแนวทางปฏิบัติ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลของการพัฒนาเกิดขึ้นกับตัวเด็กนักเรียน จึงต้องมีการบริหารจัดการ อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการ บริบท ของชุมชน และวัฒนธรรมประเพณี
- การทำเกษตรตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices - GAP) เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดการปัจจัยการผลิต ควบคุมการผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งการผลิต สำหรับการผลิตสินค้าเกษตร 3 ประเภท ได้แก่ พืช ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติสำหรับสินค้าแต่ละประเภท ดังต่อไปนี้
-
พืช สินค้าเกษตรประเภทพืช เช่น พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ เครื่องเทศ พืชสมุนไพร และเห็ดสำหรับใช้เป็นอาหารหลายชนิดสามารถปลูกในสถานศึกษา เนื่องจากกระบวนการปลูกไม่ยุ่งยาก
-
ปศุสัตว์ สัตว์หลายชนิดที่สามารถเลี้ยงได้ง่ายในสถานศึกษา เช่น ไก่ เป็ด และหมู เป็นต้น สามารถเป็นแหล่งของโปรตีนให้นักเรียนได้รับประทานได้
-
ประมง การเลี้ยงปลาและกบ ที่เป็นสัตว์น้ำที่สามารถเลี้ยงได้ง่ายในสถานศึกษา
การบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารให้ปลอดภัย
- วิธีการเลือกซื้อ เลือกบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารให้ปลอดภัย
หลักพิจารณาในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรและอาหาร
- สินค้าสด
- ลักษณะที่ปรากกฎ สีสัน กลิ่น รสชาติ ตามธรรมชาติ
- การเก็บรักษา เก็บสินค้าในบริเวณวางจำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
- บรรจุภัณฑ์ สิ่งบรรจุ หีบห่อ บรรจุอย่างมิดชิดปลอดภัยและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์
-
ฉลาก มีฉลากแสดงรายละเอียดเห็นได้ง่ายชัดเจน มีเครื่องหมายการรับรอง
-
สินค้าแปรรูป
- ลักษณะที่ปรากกฎ สินค้าผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพของวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่อยู่ในสภาพเหมาะสม
- การเก็บรักษา เก็บสินค้าในบริเวณวางจำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
- บรรจุภัณฑ์ สิ่งบรรจุ หีบห่อ บรรจุอย่างมิดชิดปลอดภัยและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์
- ฉลาก มีฉลากแสดงรายละเอียดเห็นได้ง่ายชัดเจน มีเครื่องหมายการรับรอง
วิธีการเก็บรักษาสินค้าเกษตรและอาหารให้ปลอดภัย
เนื่องจากสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม เป็นสินค้าที่เสื่อมเสียได้ง่าย ดังนั้น วิธีการเก็บรักษาสินค้าเกษตรและอาหาร จึงมีความจำเป็นเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ถนอมรักษาคุณภาพด้านต่างๆ ให้ใกล้เคียงของสด ชะลอและป้องกันการเสื่อมเสีย (Food Spoilage) ทั้งการเสื่อมเสียเนื่องจากจุลินทรีย์ (Microbial Spoilage) การเสื่อมเสียเนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมี เพื่อให้สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
- การใช้เทคโนโลยีตามสอบย้อนกลับในการติดตามที่มาของสินค้าเกษตรและอาหาร การตามสอบแหล่งที่มาของสินค้า (Traceability) เป็นกลไกเพื่อติดตามที่มาของสินค้าเกษตรและอาหาร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่งในแต่ละขั้นตอนมีการรวบรวมข้อมูลการผลิตของตัวสินค้า เพื่อติดตามที่มาของสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต กระบวนการแปรรูป การขนส่ง จนถึงการกระจายผลิตภัณฑ์อาหารสู่ผู้บริโภค
การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตอาหารในสถานศึกษา
- หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice)
Good Manufacturing Practice หรือ GMP เป็นหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารซึ่งเป็นเกณฑ์ หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุม เพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม และทำให้สามารถผลิตอาหาร ได้อย่างปลอดภัย โดยหลักการของ GMP ครอบคลุมตั้งแต่สถานที่ของสถานประกอบการ โครงสร้างอาคาร ระบบการผลิตที่ดีมีความปลอดภัย และมีคุณภาพได้มาตรฐานทุกขั้นตอน นับตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนและควบคุมการผลิตตั้งแต่รับวัตถุดิบ ผลิต ควบคุมคุณภาพ/การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ และการขนส่งจนถึงผู้บริโภค มีระบบบันทึกข้อมูล การตรวจสอบและติดตามคุณภาพผลิตภัณฑ์ รวมถึงระบบการจัดการที่ดีในเรื่องของสุขอนามัยเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายมีคุณภาพและความปลอดภัย
-
การกำกับดูแลโรงอาหารในสถานศึกษา โรงอาหารในสถานศึกษา เป็นสถานที่ปรุงประกอบอาหารและให้บริการกับนักเรียนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากโรงอาหารมีสภาพที่ไม่เหมาะสมหรือผู้ประกอบอาหารมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกสุขลักษณะจะเป็นสาเหตุให้อาหารได้รับการปนเปื้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้รับประทานได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น ทั้งอันตรายทางกายภาพ อันตรายทางเคมี และอันตรายทางชีวภาพ จึงควรมีการกำกับดูแลสุขาภิบาลอาหารสำหรับโรงอาหาร ซึ่งประกอบด้วย 6 หมวด ดังนี้
-
สถานที่ตั้ง และอาคารโรงอาหาร
- สถานที่ประกอบอาหารและสถานที่รับประทานอาหาร
- วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร
- ภาชนะอุปกรณ์
- การเตรียมและการปรุงอาหาร
- ผู้ประกอบการณ์และผู้เสิร์ฟอาหาร
การแสดงฉลาก/เครื่องหมายสินค้าเกษตรและอาหาร
- การแสดงฉลากสินค้าเกษตรและอาหาร
ฉลากสินค้าเกษตรและอาหาร คือ รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใดๆ ที่แสดงไว้ที่สินค้า ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นช่องทางที่ผู้ผลิตใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบต่างๆ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อาจได้รับอันตรายจากอาหาร และช่วยผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารได้อย่างเหมาะสมและได้รับประโยชน์สูงสุด โดยข้อมูลที่แสดงบนฉลากอาหารนั้นสามารถจำแนกตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
-
ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วยวันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง คำเตือนต่างๆ (กรณีที่กฎหมายกำหนด)
-
ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหารส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้ จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนักปริมาตร และสัดส่วน) ในภาชนะบรรจุ
-
ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่างๆ
-
ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย Q เครื่องหมาย อย. (กรณีที่กฎหมายกำหนดและตราสัญลักษณ์หรือตรามาตรฐาน)
-
เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร
เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน เป็นการแสดงสถานภาพของสินค้าว่าผ่านการตรวจสอบรับรองแล้ว ตามมาตรฐาน ซึ่งมีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภค เกิดความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้านั้นๆ
การแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร
การแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นการแสดงเครื่องหมายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไป สังเกตเห็นได้ง่ายและชัดเจน และรับรู้ว่าสินค้าเกษตรดังกล่าว มีคุณลักษณะ คุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการรับรองและสามารถตรวจสอบถึงผู้ผลิตสินค้าได้ โดยให้แสดงในที่เห็นได้ง่ายและชัดเจน เช่น สิ่งบรรจุ หีบห่อ สิ่งหุ้มห่อ สิ่งผูกมัด หรือป้ายของสินค้าและในการแสดงหรือใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ให้ระบุรายละเอียดเป็นรหัสไว้ใต้เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรหัสดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ www.tascode.acfs.go.th
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์