< กลับหน้าแรก

พัฒนาทักษะสมอง EF ด้วยการอ่าน


การพัฒนาทักษะสมอง EF เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนทักษะด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะด้านภาษา สติปัญญา อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ

พัฒนาทักษะสมอง EF ด้วยการอ่าน image

พัฒนาทักษะสมอง EF ด้วยการอ่าน

หนังสือ และการอ่าน นับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งในการพัฒนาทักษะสมอง ให้เด็กได้ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น และมีความสุขเป็นได้ โดยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้ปกครอง และครูปฐมวัยเข้าใจในกระบวนการพัฒนาทักษะสมอง EF และช่วยกันส่งเสริมให้เด็ก ๆ รักการอ่าน และสามารถนำไปพัฒนาทักษะสมอง EF ไปสู่ความสำเร็จของชีวิต และเป็นคนที่มีคุณภาพต่อไป

• รู้จัก EF

ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเลี้ยงลูกจึงจำเป็นต้องมีทักษะและความรู้ความสามารถที่เรียกว่า “21st century skills” โดยเริ่มจากการรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณเป็น ต่อมาต้องมีทักษะที่เรียกว่า 4Cs คือ การคิดวิเคราะห์เรื่องยากได้ สื่อสาร ทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็น และมีความคิดสร้างสรรค์ ต่อมาต้องมีทักษะในการใช้สื่อ และเทคโนโลยี และทักษะสุดท้าย คือ ชุดทักษะหรือคุณลักษณะแห่งความสำเร็จ มีการยืดหยุ่นปรับตัว กล้าคิดริเริ่ม ยอมรับความแตกต่าง ทำงานได้ดีกล้ารับผิดชอบในงาน และมีความเป็นผู้นำและผู้ตามตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ทักษะที่กล่าวมาเด็กจะต้องโอกาสฝึกฝน วางรากฐานที่ดีจากที่บ้าน และโรงเรียน ซึ่งในปัจจุบันด้วยพื้นฐานของปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกันทำให้ข้อมูลสภาวะเด็กไทยในวัยต่าง ๆ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เช่น เด็กในช่วง 1-3 ปีมีพัฒนาการไม่สมวัยถึง 25% และเด็กปฐมวัยถึง 30% มีพัฒนาการล่าช้าในด้านภาษา เป็นต้น และด้วยสภาวะดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเด็กไทยเพื่อให้เติบโตไปเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีผลิตภาพสูง และพร้อมจะดูแลรับผิดชอบครอบครัว และสังคมไทยต่อไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะสร้างให้เด็กได้คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น และมีความสุขเป็น ในการสร้างคนคุณภาพต้องฝึกฝน Executive Functions (EF) ซึ่งเป็นทักษะสมองที่เป็นชุดกระบวนการทางความคิดทำงานในสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิด การรู้สึก และการกระทำของมนุษย์ ช่วยให้คิดเป็นมีเหตุผล กำกับอารมณ์ และพฤติกรรม เป็นรากฐานที่นำไปสู่การมีพัฒนาการครบรอบด้านของมนุษย์ทุกคน และเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นจึงสรุปองค์ประกอบของ EF ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ทักษะพื้นฐาน ได้แก่ จำเพื่อใช้งาน (Working Memory) ยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) ยืดหยุ่นความคิด (Cognitive Flexibility)

กลุ่มที่ 2 จดจ่อใส่ใจ (Focus Attention) ควบคุมอารมณ์ (Emotion Control) ติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring)

กลุ่มที่ 3 ริเริ่ม-ลงมือทำ (Initiating) วางแผนและจัดการทำงานให้สำเร็จ (Planning and Organizing) มุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)

นอกจากนี้ ทักษะ EF ยังมีผลต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ และสุขภาวะองค์รวมตลอดช่วงชีวิต

• EF กับเด็กปฐมวัย

ทักษะสมอง EF ใช้เวลาในการพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่ 1 ปีแรก โดยในช่วง 3 - 6 ปีนั้นมีงานวิจัยชี้ว่า เป็นช่วงสำคัญที่จะสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีอัตราการเติบโตก้าวหน้าของการพัฒนา EF มากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ ดังนั้น ถ้าเด็กได้รับโอกาสพัฒนา EF อย่างดีแล้ว ทั้งตัวเด็ก ครอบครัว และสังคมจะส่งผลดีในอนาคตทั้งสิ้น โดยหลักการเบื้องต้นของการส่งเสริม EF คือ

  1. สัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก

  2. การเล่นคือการเรียนรู้ของเด็ก และเป็นการเรียนรู้ที่ให้ความสุขสนุกสนาน

  3. ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการติดและสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ

  4. ให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง

  5. ตั้งคำถามชวนคิดชวนคุยให้มาก

  6. ให้เด็กได้มีอิสระในการคิดมากขึ้นตามวัย

• EF กับการอ่าน

การมีความเข้าใจในการอ่าน หรือการอ่านหนังสือรู้เรื่อง เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ทำให้เกิดผลการเรียนดี โดยการอ่าน หนังสือให้เข้าใจมีหลายองค์ประกอบ ได้แก่ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการอ่าน มีความเข้าใจในหลักการของภาษา มีความรู้ และทักษะทางการคิด รู้เป้าหมายก่อนอ่าน สำรวจเบื้องต้น ตีความเนื้อหา และประเมินความเข้าใจในเรื่องราวที่อ่าน ซึ่งในการอ่านหนังสือให้รู้เรื่องจึงจำเป็นต้องใช้ทักษะสมอง EF หลายด้านทำงานร่วมกัน เช่น ต้องมีสมาธิ

จากการวิเคราะห์กระบวนการอ่านกับทักษะสมอง EF ถ้าเด็กไม่สามารถจดจ่อ ไม่สามารถจัดระบบบริหารจัดการตนเอง ความจำเพื่อใช้งานไม่ดี และขาดความสามารถในการแก้ปัญหาสามารถส่งผลต่อความเข้าใจในการอ่านได้

เทคนิคในการพัฒนาทักษะการอ่านและ EF ไปด้วยกัน เริ่มจากการสำรวจก่อนว่า EF แต่ละด้านของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร อ่านหนังสือกับลูกบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ พูดคุยเพิ่มเติมระหว่างกิจกรรมการอ่านกับเด็ก วิธีการอ่านหนังสือกับเด็กเป็นทั้งผู้ฟังและผู้เล่าเรื่อง โดยสามารถเริ่มพัฒนา EF ตั้งแต่ปฐมวัย

ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์


จำนวนผู้ดูเรื่องนี้: 1702

เขียนเมื่อ: 17-06-2024 09:00

ที่มา: Healthy Media Hub

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ: : สุภาวดี หาญเมธี สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)

ประเภท

  • ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก

หมวดหมู่

  • ทักษะในชีวิต

Tags

การอ่าน ทักษะสมอง ปฐมวัย

ผู้ใช้ความรู้

  • ครู
  • ผู้ปกครอง

กลุ่มเป้าหมาย

  • ปฐมวัย
  • ประถมศึกษาตอนต้น

ระดับความง่ายในการนำไปใช้งาน: ใช้ได้ทันทีด้วยตนเอง

คำแนะนำการใช้:

ไม่มี





ชุดความรู้นี้ นำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนของท่านได้มากน้อยแค่ไหน?