< กลับหน้าแรก

คู่มือแนวทางสำหรับครู เรื่องการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน


โรคอาหารเป็นพิษ เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยปัจจัยเสี่ยงสามารถเกิดได้จาก ทั้งวัตถุดิบไม่มีคุณภาพ การปรุงประกอบอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ และพฤติกรรมการบริโภค

คู่มือแนวทางสำหรับครู เรื่องการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน image

โรคอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) พบบ่อยในประเทศไทย เกิดได้ทุกช่วงอายุ ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย พบในเด็กได้สูงกว่าวัยอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน เนื่องจากมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม และรับประทานอาหารชนิดเดียวกัน ดื่มน้ำร่วมกันทั้งโรงเรียน

ความรู้เรื่องโรคอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) หมายถึง โรคติดต่อทางอาหารและน้ำชนิดหนึ่ง เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษจากพืช สัตว์ สารเคม และโลหะหนัก ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดมวนท้อง อาจมีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดศีรษะ หรือผื่นขึ้นตามร่างกาย

อาหารเป็นพิษจากแบคทีเรีย

  • พิษจากพิษของแบคทีเรีย (Toxin) เป็นพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้นแล้วปล่อยออกมา (Exotoxin) ไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน บางตัวต้องต้มให้เดือดทั่วถึงนาน 10 นาที จึงจะสามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน หลังรับประทานจะเกิดอาการภายใน 2-36 ชั่วโมง อาการรุนแรงแต่หายเร็ว ไม่ติดต่อไปยังผู้อื่น พบมากใน หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง เนื้อหรือปลารมควัน ไข่ ขนมปัง นมและผลิตภัณฑ์จากนม

  • พิษจากตัวแบคทีเรียเอง (Bacterial Infection) เกิดจากแบคทีเรียเจริญแพร่ขยายตัวเป็นจำนวนมากในร่างกายผู้ที่ได้รับเชื้อ สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ หลังรับประทานจะเกิดอาการภายใน 12-24 ชั่วโมง และอาจเป็นอยู่หลายวัน พบมากในอาหารทะเล ไข่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แซนวิช

วิธีผสมสารละลายเกลือแร่

สารละลายเกลือแร่ (ORS : Oral rehydration salt) ใช้รักษาภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในผู้ป่วยท้องเสียหรืออาเจียนมาก มีทั้งชนิดผงสำเร็จรูปและสามารถผสมเองได้ ดังนี้

  • ชนิดผงใส่ซองสำเร็จรูป 1 ซอง ต่อน้ำดื่ม 240 มิลลิลิตร
  • ชนิดผสมเอง เกลือแกง ½ ช้อนชา น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำดื่ม 750 มิลลิลิตร

ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด ดังนี้

  • สุก รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ
  • ร้อน อาหารที่ปรุงประกอบไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • สะอาด บริโภคอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิต ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้ง ก่อนสัมผัสหรือรับประทานอาหาร

หลักห้าประการสู่อาหารปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก

  1. รักษาความสะอาด
  2. แยกอาหารปรุงสุกออกจากอาหารสด
  3. ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง
  4. เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม
  5. ใช้น้ำและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุงอาหาร

บทบาทหน้าที่ครูในการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน 6 มาตรการ

  1. การจัดระบบสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน
  2. การรักษานมในอุณหภูมิที่เหมาะสมตามชนิดของนม
  3. อาหารบริจาค
  4. อาหารในกรณีนักเรียนเข้าค่ายหรือทัศนศึกษา
  5. พืชพิษ
  6. การประสานส่งต่อและการสื่อสารความเสี่ยง เมื่อพบนักเรียนป่วยหรือเกิดเหตการณ์ระบาดในโรงเรียน

ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์


จำนวนผู้ดูเรื่องนี้: 1370

เขียนเมื่อ: 19-05-2023 17:02

ที่มา: ศูนย์เรียนรู้เด็กไทยแก้มใส

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ:

ประเภท

  • ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก

หมวดหมู่

  • ภาวะโภชนาการ

Tags

อาหาร อาหารเป็นพิษ สุขาภิบาลอาหาร

ผู้ใช้ความรู้

  • ผู้บริหารสถานศึกษา
  • ครู

กลุ่มเป้าหมาย

  • ปฐมวัย
  • ประถมศึกษาตอนต้น
  • ประถมศึกษาตอนปลาย
  • มัธยมศึกษาตอนต้น
  • มัธยมศึกษาตอนปลาย

ระดับความง่ายในการนำไปใช้งาน: ใช้ได้ทันทีด้วยตนเอง

คำแนะนำการใช้:

-





ชุดความรู้นี้ นำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนของท่านได้มากน้อยแค่ไหน?