แนวทางการดูแลสุขภาวะคุณภาพชีวิต และการเสริมสร้างคติเชิงสร้างสรรค์โดยครอบครัวและชุมชน กลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ สำหรับเด็กวัยรุ่น
แนวทางสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยรวบรวมจากการถอดประสบการณ์ของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ในการดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูในด้านต่าง ๆ จนลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น การฝึกหรือสอนใช้วิธีการ เทคนิค และสื่ออุปกรณ์ที่หลากหลาย ช่วยคลายปัญหาแก้ได้ตรงจุด รวมถึงหน่วยบริการช่วยเหลือและฟื้นฟู

สิ่งที่ควรรู้ก่อนคิดช่วยเหลือ
สังเกตสิ่งที่ลูกชอบหรือสนใจ จากการพูดคุย การสังเกตพฤติกรรม การสอบถามจากครู การสอบถามจากเพื่อน หรือการตั้งคำถามโดยตรงเพื่อรู้ความชอบและความสนใจจากลูก จากนั้นพ่อแม่จึงส่งเสริมให้เด็กทำในเรื่องที่ตนเองทำได้ดี โดยเปิดโอกาสให้ได้ลงมือทำจริง เมื่อเด็กทำได้ก็ให้กำลังใจด้วยการชม กอด หรือหอมแก้ม เพราะการที่เด็กได้ลงมือทำ และทำซ้ำบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะเป็นการพัฒนาฝีมือและความชำนาญ ถ้าได้รับการชมเชยจะทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะพัฒนาความสามารถของตนเองอย่างเต็มความสามารถ ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องยอมรับว่าลูกมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะได้ให้การช่วยเหลือลูกต่อไป
การปรับตัวสู่วัยรุ่น
วัยรุ่น “ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากลอง” เป็นวัยที่ต้องปรับตัวลำบากที่สุด เพราะเป็นช่วงระหว่างความเป็นเด็กและเป็นผู้ใหญ่ ในช่วงวัยนี้มีลักษณะพัฒนาการต่าง ๆ ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาเป็นไปอย่าง “รวดเร็ว” และ “เข้าใจยาก” ดังนั้น พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพกายของวัยรุ่น พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการมีพฤติกรรมที่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพ เช่น การกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลให้วัยรุ่นมีร่ายกายที่แข็งแรง สุขภาพดี ด้านอารมณ์และจิตใจของวัยรุ่น พ่อแม่เองก็ต้องจัดการอารมณ์ของตนเองก่อนที่จะไปจัดการกับลูกก เพราะการแสดงออกของพฤติกรรมทุกอย่างที่ผ่านตัวพ่อแม่นั้นเป็นเหมือนกระจกส่องให้ลูกเห็น เป็นเหมือนหนังสือที่เปิดให้ลูกอ่าน มันคือการเรียนรู้ของลูก นอกจากนี้ยังส่งเสริมในด้าน การแต่งตัว ให้สะอาด สุภาพเรียบร้อย รู้จักกาลเทศะ มารยาทและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน การป้องกันตัวเอง ป้องกันไม่ให้ลูกตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ป้องกันไม่ให้ติดยาเสพติด อาจใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่ดีต่อตัวเด็กและครอบครัว คลายความเครียด ห่างไกลจากยาเสพติด เกิดความอบอุ่นในครอบครัว
ความภูมิใจและกุญแจสู่อนาคต
พ่อแม่ที่มีลูกมีความบกพร่องทางการเรียนรู้จะต้องคำนึงถึงความสามารถของลูกและสนับสนุนให้ลูกพัฒนาความสามารถอย่างเต็มที่เพื่ออนาคตของลูก ต้องวางแผน เช่นแผนการศึกษาต่อ แผนการประกอบอาชีพ หรืออาชีพเสริม
หน่วยบริการการช่วยเหลือและฟื้นฟู
หน่วยงานของรัฐ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียน
หน่วยงานเอกชน เช่น โรงพยาบาลเอกบน สมาคม ชมรม มูลนิธิ
สมาคมส่งเสริมศักยภาพบุคคลบกพร่องทางการเรียนรู้
ชมรมส่งเสริมศักยภาพบุคคลบกพร่องการเรียนรู้
สมาคมแอลดีแห่งประเทศไทย
มูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษ ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์