< กลับหน้าแรก

Grooming การป้องกันและการจัดการ


การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก เช่น grooming ที่นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือแม้กระทั่งการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ของครู สามารถทำให้มีผลกระทบต่อชีวิตเด็กไปตลอดชีวิต ถ้าไม่ป้องกัน เมื่อเสียหายไปแล้ว ผลกระทบนั้นยาวไกลและรุนแรงมาก

Grooming การป้องกันและการจัดการ image

Grooming เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก และขยายกว้างออกไปถึงทุกเรื่องที่เมื่อจะทำร้าย จะแสวงประโยชน์ แล้วมีการเตรียมการเพื่อทำให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อไม่ขัดขืน ร่วมมือ หรือยินยอม

เมื่อก่อนจะเห็นข่าวล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน ลากมาทุบตีทำร้าย บังคับ แต่ผู้ถูกกระทำไม่ได้ขัดขืน ทำให้มีความเข้าใจผิดว่าเขายอม หรือเขาให้ความร่วมมือ ตัวอย่างกรณีครูพานักเรียนไปข่มขืนที่บ้าน มีวิดีโอคลิปที่ครูถ่ายไว้ข่มขู่เด็กเพื่อให้มาตอบสนองความใคร่ของครูเรื่อย ๆ ซึ่งในวิดีโอไม่เห็นเด็กขัดขืน ต่อสู้เลย ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กยอม แต่เด็กถูกตระเตรียมมานาน มีวิธีหลอกล่อเด็กโดยขั้นตอนต่าง ๆ ที่เป็นแบบแผนที่เราสามารถมองเห็นได้ ถ้าเรารู้จัก เราจะมองออกว่า คนนี้กำลังจะล่อลวงเด็กแล้ว จะมีเป็นขั้นตอน พอเรามองเห็นขั้นตอนเราก็แจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ หรือคนที่เป็น by stander คนแวดล้อม เราจะตื่นตัวและแทรกแซง ช่วยเหลือเด็กได้ทันท่วงที

รู้จักและรู้ทัน ‘คนใคร่เด็ก’ (pedophile)

คนที่มีรสนิยมที่ผิดเพี้ยนคือต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กมากกว่าคนในวัยเดียวกัน คนพวกนี้ไม่มีลักษณะพิเศษ เป็นคนธรรมดา ๆ ใคร ๆ ก็เป็นได้ทั้งนั้น พบคนพวกนี้ทั้งเพศหญิง ชาย ศาสนา อาชีพต่าง ๆ หลายเชื้อชาติ ภายนอกอาจดูใจดี เอื้อเฟื้อ ธรรมะธรรมโม ซึ่งคนที่ละเมิดทางเพศเด็กส่วนใหญ่เป็นคนที่เด็กรู้จัก

การเตรียมการ (grooming) คนพวกนี้จะมีพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนชัดเจน

  1. เลือกคนที่อาจเป็นเหยื่อได้ง่าย (ล็อกเป้า)
  2. สร้างความไว้วางใจ การติดต่อ เข้าถึงได้
  3. ทำตัวให้เป็นคนสำคัญในชีวิตเด็ก
  4. เริ่มแยกเด็กจากคนอื่น หาโอกาสอยู่ตามลำพังด้วย
  5. เริ่มสร้าง ‘ความลับ’ ระหว่างเขากับเรา ห้ามบอกคนอื่น
  6. เริ่มแสดงออกทางเพศ เริ่มจากสัมผัสแบบธรรมดาก่อน
  7. ควบคุมบังคับ (ด้วยเงิน ด้วยการข่มขู่ ควบคุมทางจิตใจ) เพื่อให้เด็กต้องตอบสนองความใคร่ของเขาต่อไปเรื่อย ๆ

วิธีปฏิบัติการของคนเหล่านี้

  • มักเลือกเด็กที่ขาดความอบอุ่น ขาดความเอาใจใส่จากครอบครัว ชักจูงง่าย เพราะเด็กโหยหาความสนใจ มักเจอบ่อยในเด็กที่อยู่ในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือเด็กที่ขาดแคลนข้าวของเงินทอง
  • คนเหล่านี้จะค่อย ๆ เข้ามาแสดงความห่วงใย สร้างความไว้วางใจก่อน ค่อย ๆ เข้ามาใกล้ชิดเด็กและครอบครัว บางคนอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือปี ให้ความช่วยเหลือ สร้างบุญคุณ (ทำให้เกรงใจ) สร้างความเชื่อถือ (ทำให้ตายใจ) ผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ บางทีลำบากอยู่แล้ว เหนื่อยอยู่แล้ว ก็ดีใจแทบจะยกเด็กให้เลย เปิดโอกาสให้เลย คิดว่าตัวเองโชคดี
  • เริ่มหาโอกาสที่จะอยู่กับเด็กตามลำพัง รับอาสาดูแลเด็กเวลาพ่อแม่ไม่ว่าง พาไปซื้อของ พาไปเที่ยว ฯลฯ
  • มักใช้เกม หรือกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นคนพิเศษ เช่น บอกความลับกับเด็ก

บทบาทของนักจิตวิทยาในการทำงานเรื่องกฎหมาย

นอกจากจะเป็นผู้เยียวยารักษาให้กับเด็กเหล่านี้สามารถก้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือ การเป็นผู้ประเมิน ความเห็นของนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการดำเนินคดี เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีคดีเหล่านี้เกิดขึ้น หรือคดีที่เด็กได้รับความเสียหาย นอกจากการดำเนินคดีในทางอาญา เด็กก็ยังจะมีสิทธิในการดำเนินคดีทางแพ่ง ในการเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ทำให้เกิดความเสียหายกับร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สินต่าง ๆ ในส่วนของความเสียหายทางจิตใจก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำไปเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

ในขณะนี้พฤติกรรมการ grooming เด็ก ยังไม่ได้ถือเป็นความผิดตามกฎหมายไทย แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนากฎหมายเรื่อง grooming ในอนาคตพฤติการณ์ที่เป็นการ grooming ลักษณะนี้เพื่อแสวงผลประโยชน์ทางเพศเด็ก จะเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเราสามารถดำเนินการได้ พิสูจน์เจตนาได้โดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดผลเสียหายสำหรับเด็กเกิดขึ้นก่อน

การขอความช่วยเหลือ

สามารถขอความช่วยเหลือได้จากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กรเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือในด้านนี้ มูลนิธิต่าง ๆ พม. บ้านพักเด็ก หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเด็ก แต่อยากให้คำนึงไว้ว่า ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับเด็กที่เกี่ยวข้องกับคดีประเภทเหล่านี้ เด็กจะมีความบอบช้ำทางจิตใจค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกับเด็ก อาจจะต้องทำความเข้าใจและให้เวลา

Online Grooming

การล่วงละเมิดต่อเด็กเกิดขึ้นโดยผ่านสื่อออนไลน์พบมาก ทำได้ง่าย ทำกับเด็กได้ทีละหลาย ๆ คน และยังคงเป็น grooming ในรูปแบบเดียวกัน ล่อลวงและฉกฉวยผลประโยชน์ทางเพศจากความเปราะบางของเด็ก เป็นได้ทั้งคนคุ้นเคย และคนแปลกหน้า

ขั้นตอนการ online grooming

  1. เลือกเหยื่อ
  2. สร้างความไว้วางใจ
  3. เติมเต็มความต้องการ
  4. แยกเด็กออกมา
  5. สร้างสัมพันธ์กับเด็ก
  6. ควบคุมเด็ก
  7. ล่วงละเมิดทางเพศ

สัญญาณเตือนก่อนที่จะดำเนินไปในแต่ละขั้นตอน

  1. ติดโทรศัพท์มาก ไม่วาง ไม่ให้ใครแตะ ไม่ให้ใครเข้าถึง chat ต่าง ๆ
  2. ไม่กล้าปิดโทรศัพท์ ออนไลน์ตลอด
  3. ดูมีความลับ ไม่ยอมบอกว่าคุยกับใคร หรือไม่ยอมเล่าถึงคนคนนั้น
  4. ท่าทีเปลี่ยนแปลง ครุ่นคิดกังวล อารมณ์ขึ้นลงรวดเร็วเพราะเครียด แยกตัว ไม่พบปะพูดคุย

ผลกระทบจากการถูกละเมิดทางเพศ

อาการทางจิตใจ

  • อาการซึมเศร้า
  • ภาพหลอนจากอดีต

อาการเครียดผิดปกติ (PTSD)

Slide summary คลิ๊ก link title

ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์


จำนวนผู้ดูเรื่องนี้: 5203

เขียนเมื่อ: 09-05-2023 15:31

ที่มา: ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ: ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา/ คุณสุภัทรี เลาหวิรภาพ/ คุณวิลีญาศนีย์ ริญญา/ พ.ต.ท.กิตติศาสตร์ ทองมา

ประเภท

  • ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก

หมวดหมู่

  • สุขภาวะทางเพศ

Tags

Grooming ความรุนแรง ล่วงละเมิด

ผู้ใช้ความรู้

  • ครู
  • ผู้ปกครอง
  • อื่นๆ

กลุ่มเป้าหมาย

  • ปฐมวัย
  • ประถมศึกษาตอนต้น
  • ประถมศึกษาตอนปลาย
  • มัธยมศึกษาตอนต้น
  • มัธยมศึกษาตอนปลาย
  • ผู้ปกครอง

ระดับความง่ายในการนำไปใช้งาน: ใช้ได้ทันทีด้วยตนเอง

คำแนะนำการใช้:

-





ชุดความรู้นี้ นำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนของท่านได้มากน้อยแค่ไหน?