อยากสุขภาพดี ต้องมี 3อ. อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ สำหรับเด็กเล็ก
การมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากมี ปัจจัยที่สำคัญมากต่อการมีสุขภาพดี คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือดำเนินชีวิตใน 3 เรื่อง คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “3อ.”

การใช้หลัก 3อ. อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ สำหรับเด็กเล็ก มีรายละเอียด ดังนี้
1. อาหาร ใน 2 ปีแรกของเด็กวัยแรกเกิด ถึง 5 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งการพัฒนา สมองของทารก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 - 80 ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่ ทารกและเด็กเล็ก
จึงต้องการสารอาหารมากกว่าวัยอื่น เมื่อคิดตามน้ำหนักตัว นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ควรเลี้ยงลูก
ด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และสำหรับเด็กอายุ 3 - 5 ปี มีความต้องการพลังงาน และสารอาหารต่าง ๆ
เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโปรตีน แคลเซียม วิตามินเอ ธาตุเหล็ก และไอโอดีน เด็กควรได้รับอาหารหลัก 3 มื้อ
และอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อต่อวัน ควรฝึกเด็กกินผักผลไม้เป็นประจำ และดื่มนมรสจืด 2 - 3 แก้ว ต่อวัน
การเติบโตของเด็กแต่ละวัยสามารถวัดได้โดยกราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย
เพื่อประเมินภาวะโภชนาการของทารก และเด็ก
สำหรับเด็กระดับประถมศึกษาอายุ 6 - 12 ปี เด็กวัยเรียนควรต้องได้รับพลังงาน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ
เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโต การเรียนรู้ จดจำ การสร้างภูมิต้านทานโรค การทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมี
ประสิทธิภาพ ในแต่ละวันเด็กๆ ควรกินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ กลุ่มข้าว
แป้ง ควรกินข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ วันละ 7 - 8 ทัพพีร่วมกับเนื้อสัตว์ วันละ 4 - 6 ช้อน กินข้าว และผัก
วันละ 4 ทัพพี และผลไม้หลังมื้ออาหาร หรือเป็นอาหารมื้อว่าง 3 ส่วนต่อวัน ไม่หวานจัด ไม่เค็มจัด และไม่มี
ไขมันสูง ที่สำคัญควรดื่มนมเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 - 3 แก้ว
2. ออกกำลังกาย กิจกรรมออกกำลังกายในเด็กเล็ก ควรเคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายเป็นประจำ
ทุกวัน การเคลื่อนไหวเหล่านี้ ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น การย่อยอาหาร
และการขับถ่ายดีขึ้น สร้างมวลกระดูก มากขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรง เป็นผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตดีความสูง
เพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเหมาะสม โดยมีกิจกรรมการเล่นที่แนะนำ เช่น กระโดดข้ามขอนไม้ ลอดใต้สะพาน
เล่นจิงโจ้กระโดด ฝึกทรงตัว ยืนกระต่ายขาเดียว เป็นต้น
3. อารมณ์ การพัฒนาอารมณ์ และปลูกฝังทักษะทางสังคมให้ลูก ในแต่ละช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี
จะมีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม และอารมณ์แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน
ทารกใช้วิธีร้องไห้เพื่อสื่อความหมายให้รู้ว่าเขาหิว และไม่สบายตัว ชอบให้ผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยอุ้ม โอบกอด
และกล่อม กิจกรรมที่ส่งเสริม เช่น ร้องเพลงกล่อมเด็ก พูดคุยกับเขาด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน อุ้มทารก
ให้หันหน้ามา สบตา ยิ้ม และพูดคุยกับเขา พาเขาไปสถานที่ใหม่ ๆ หรือพบสิ่งต่าง ๆ โดยคอยดูแล
ความปลอดภัย เป็นต้น
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์