การจัดการเรียนรู้ "เพศวิถีศึกษา"
คลิปวิดีโอ เพศวิถีศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป “ทำไมต้องจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา” เพราะมีผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตของเด็ก เพราะการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ จะนำไปสู่ปัญหาทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม เช่น ท้องไม่พร้อม การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การถูกล่อลวง ทำร้าย ถูกละเมิดสิทธิ ล่วงเกินทางกาย การดูถูกเหยียดหยาม หรือ Bully ทำให้อับอายในเรื่องเพศ การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก บังคับข่มขู่ให้ทำตามที่ต้องการจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือผู้ใหญ่ใกล้ตัว เป็นต้น
คลิปวิดิโอ motion graphic เนื้อหาประกอบด้วย เป้าหมายของเพศวิถีศึกษา หรือ CSE : Comprehensive Sexuality Education
• เน้นให้เด็กมีความคิดเชิงบวกต่อเรื่องเพศและสัมพันธภาพทางเพศที่ปลอดภัย แสดงออกและตัดสินใจได้อย่างอิสระ และเคารพต่อเพศวิถีที่หลากหลาย
• ทำให้เด็กเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น พัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมและความสัมพันธ์ทางเพศที่เคารพกันและกัน คำนึงถึงผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง สามารถเผชิญและจัดการการดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น อีกทั้งเข้าใจและสามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างยั่งยืนและตลอดชีวิต
ครูควรจัดการเรียนรู้อย่างไร
1.ใช้เนื้อหาและเวลาเรียนให้เหมาะสมต่อช่วงวัย และครอบคลุมทั้ง 6 มิติ คือ 1) พัฒนาการแต่ละช่วงวัย 2) สัมพันธภาพกับผู้อื่น 3) การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล 4) พฤติกรรมทางเพศ 5) สุขภาวะทางเพศ 6) บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเพศ ไม่ควรเลือกสอนเฉพาะเนื้อหาที่ครูสะดวกใจแต่ไม่ตรงกับความสนใจของผู้เรียน
2.สังเคราะห์และบูรณาการเนื้อหาที่เรียน กับสาระการเรียนรู้ มาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละระดับชั้น
3.จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่หลากหลายและเหมาะสม มีการใช้คำถาม การฟัง สรุปประเด็น กระตุ้นให้มีการถกเถียงและคิดต่อ เพื่อให้เกิดความตระหนัก เรียนรู้ เกิดทักษะคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ สร้างสรรค์ แก้ปัญหา ตัดสินใจ การหาข่าวสารข้อมูล
4.จัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม ให้เด็กเกิดปฏิสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วม ได้ทำกิจกรรม ได้คิด ได้พูด ได้หาข้อสรุปและร่วมการประเมิน
5.ใช้สถานการณ์/เหตุการณ์จริงในชีวิตประจำวัน นำมาให้เด็กรู้จักคาดการณ์ คิดวิเคราะห์ หาสาเหตุที่เกิดผลขึ้น เพื่อหาคำตอบและแนวทางแก้ปัญหาและป้องกันตนเอง รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
6.สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย กล้าถามในเรื่องที่สงสัยแทนที่จะปล่อยให้เรียนรู้เอง ครูต้องไม่ชี้ผิดชี้ถูกแต่ให้เด็กได้คิดและเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยตนเอง
7.ครูต้องมีบันดาลใจและพร้อมสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็ก ให้เด็กมีทางเลือกมากกว่าการห้าม ชี้ให้เห็นคุณค่าของตนเอง เห็นคุณค่าและเคารพสิทธิของผู้อื่น
8.ประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง เน้นให้เด็กมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาวะทางเพศในชีวิตประจำวันของตนเองในทางที่ดีขึ้น
สำหรับพ่อแม่และครอบครัว
•การคุยเรื่องเพศ ไม่ใช่ คุยแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่คุยกันตั้งแต่เรื่องร่างกาย สังคมวัฒนธรรม ความแตกต่างระหว่างเพศ การคบเพื่อน และอื่นๆ
•คุยเรื่องเพศ คือ การสอนทักษะชีวิตให้ลูกหลาน
•ฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้จบ อย่าด่วนตัดสินว่าอะไรถูกผิด อย่ารีบตอบคำถามเด็ก
•ใส่ใจ พูดคุยกับลูกบ่อยๆ หมั่นถามความเห็นลูก เข้าใจยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
•อย่าขู่ให้กลัว อย่าล้อเลียน อย่าประชดประชันและเกรี้ยวกราดใส่เด็ก
•อย่ากังวลว่าเราต้องรู้ทุกเรื่อง