< กลับหน้าแรก

แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล


ปัจจุบันเด็กสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้ง่าย และรวดเร็ว อีกทั้งยังใช้เวลาส่วนมากในการเล่นโทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ตเกือบตลอดเวลาซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ผู้ปกครองจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่อออนไลน์เพื่อนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย และป้องกันปัญหาในด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้น

แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล image

แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล

จากการสำรวจการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชน พบว่า มีการเข้าถึงสื่อ และก่อให้เกิดปัญหาตามมา อาทิ มีการใช้เวลาออนไลน์มากเกินไป ส่งผลต่อสุขภาพกาย และใจ มีการนัดพบล่อลวงออนไลน์ มีการพูดคุยเรื่องเพศ และถูกหลอกให้ถ่ายคลิปลามก มีการเข้าถึงการพนันออนไลน์ ถูกหลอกโกงเงินความปลอดภัยทางข้อมูล และเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัลเล่มนี้จึงมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์ภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน พร้อมวิธีรับมืออย่างเหมาะสม โดยแบ่งเนื้อหา ดังนี้

1. สื่อออนไลน์กับผลกระทบต่อสุขภาวะ กาย จิต และสังคม

เมื่อเด็กใช้สื่อออนไลน์มากเกินความเหมาะสมทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพกาย และสุขภาพใจ สำหรับด้านสุขภาพกาย อาทิ พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary behavior) คือ ภาวะขี้เกียจไม่เคลื่อนไหวทำให้มีอัตราการเผาผลาญในร่างกายที่น้อยลงส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งโรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคอ้วนลงพุง โรควุ้นในตาเสื่อม เกิดจากน้ำในวุ้นตาเสื่อมโดยส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุ หรือคนที่ทำอาชีพที่ต้องใช้สายตามาก ๆ แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีคนเป็นโรควุ้นตาเสื่อมกันมากขึ้นจากสาเหตุที่อยู่หน้าจอกันทั้งวัน ไม่ว่าจะเล่นโทรศัพท์ อ่านหนังสือ ดูหนัง เล่นเกม ต่างก็ทำผ่านหน้าจอกันทั้งสิ้น สำหรับสุขภาพใจ อาทิ โรคติดอินเทอร์เน็ต (Internet Addiction Disorder) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มอาการทางจิตใจอย่างหนึ่ง เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในการเสพข้อมูลหรือข่าวสารมากเกินไป โรคติดเกม เกิดจากพฤติกรรมเสพติดในทางสมองมีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด มีผลต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก โดยจะใช้เวลาเล่นนานเกินไป ขาดการควบคุมตนเองในการใช้ชีวิตปกติ โรคติดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ เกิดจากการที่โทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และทำให้เกิดความกังวลใจว่าถ้าไม่มีโทรศัพท์แล้วจะทำอย่างไรจึงต้องใช้โทรศัพท์ตลอดเวลาซึ่งส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสังคม และสุขภาพร่างกาย การใช้สื่อสังคมออนไลน์สู่การฆ่าตัวตาย ปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วและง่าย แต่สื่อออนไลน์เปรียบเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อคนใช้สื่อออนไลน์จะทำให้ลืมสังคมรอบตัว และขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทำให้หลายครั้งที่มีการประกาศฆ่าตัวตายผ่านสื่อออนไลน์ คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าผู้เขียนข้อความเรียกร้องความสนใจ และเป็นเรื่องไร้สาระ ทำให้ช่วยเหลือไม่ทัน คนในครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดควรสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเด็กอยู่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ เด็กอาจถูกล่อลวงไปละเมิดทางเพศจริง ๆ หรือถูกโน้มน้าวชักจูงหรือล่อลวงให้แสดงโชว์ลามกผ่านกล้องแล้วถูกบันทึกภาพวิดีโอเอาไว้ข่มขู่เรียกเงิน นำไปเผยแพร่ ประจานให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกนำไปขายทำเงินบนอินเทอร์เน็ต ผู้ปกครองควรให้ความรู้พร้อมคำแนะนำในการสื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม และปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ความรุนแรงต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งการใช้สื่อออนไลน์รังแกคนอื่น เช่น การโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอเพื่อสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น อีกหนึ่งปัญหาที่เห็นเด่นชัดได้แก่ ความรุนแรงในสื่อ เมื่อความรุนแรงของสังคมถูกนำมาขยายซ้ำบนสื่อ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์นั้นทำได้โดยการถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วส่งต่อ การโพสต์เรื่องราว ข้อความยั่วยุปลุกปั่น การแสดงอารมณ์ การที่มีผู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นในทางลบคนที่ไม่รู้จักกันบนโลกออนไลน์สามารถสร้างความเจ็บช้ำให้กับเหยื่อและครอบครัวแบบเท่าทวีคูณ และในสถานการณ์การเมืองอาจมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวการติดตามข่าวสารการเมืองในสื่อโซเชียลมีเดีย แล้วนำมาถกกันบนโต๊ะอาหาร อาจนำมาซึ่งความเครียดและความขัดแย้งได้

2.บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ผู้ปกครองเป็นคนแรกที่สามารถรับรู้ได้ถึงความผิดปกติของเด็กเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้สื่อออนไลน์มากเกินไป ผู้ปกครองจึงมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและรับทราบสาเหตุ

กรณีกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์ (Cyber bulllying) ผู้ปกครองคอยสังเกตพฤติกรรม อาทิ ไม่อยากไปโรงเรียน มีอาการซึมเศร้า แยกตัวจากเพื่อน มีอาการป่วยบ่อย และทำร้ายตนเอง วิธีพูดคุยเมื่อลูกถูกกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์ โดยทั่วไปเด็กที่ถูกรังแกมักไม่กล้าบอกเรื่องราว แต่การมีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวจะทำให้ลูกสามารถคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นพื้นฐานคือการสร้างรากฐานความรัก ความเข้าใจและการรับฟังกันในครอบครัว ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกทุกวันถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ลูกได้พบเจอในแต่ละวัน หากลูกมีบัญชีออนไลน์ พ่อแม่ก็ควรเป็นเพื่อนกับลูกในสังคมนั้นด้วย แล้วคอยติดตามเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ เมื่อเริ่มเห็นความผิดปกติควรสอบถามความรู้สึกของลูก ถ้าสงสัยว่าลูกโดนรังแก พ่อแม่อาจจะเลียบเคียงถามถึงเพื่อนออนไลน์ของลูกและซักถามถึงความรู้สึกของลูกที่มีต่อเพื่อน ๆ ได้ วิธีปฏิบัติเมื่อลูกถูกกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์ เริ่มจากผู้ปกครองต้องตระหนักว่าการระรานทางออนไลน์นั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องเล็ก หากรู้ว่าลูกถูกรังแกทางออนไลน์ อย่าปล่อยผ่าน ควรรับฟังและหาทางช่วยเหลือ ให้กำลังใจลูกให้เห็นคุณค่าในตนเอง ถ้าส่งผลต่อสุขภาพจิตควรให้ลูกได้รับการประเมินและดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ สอนให้ลูกเคารพผู้อื่น และไม่ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ หากเกิดเหตุขึ้นในโรงเรียนหรือทราบว่าผู้กระทำผิดเป็นเด็กหรือบุคลากรในโรงเรียน ควรเก็บหลักฐาน และแจ้งคุณครูพร้อมติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอาจต้องใช้วิธีการตามกฎหมาย

กรณีการละเมิดทางเพศออนไลน์ ผู้ปกครองคอยสังเกตพฤติกรรม อาทิ ซึมเศร้า วิตกกังวลเมื่อเล่นโทรศัพท์ บางคนมีพฤติกรรมการใช้เงินมากขึ้น ขอเงินบ่อยขึ้น เนื่องจากถูกขู่กรรโชกทรัพย์ รอยแผลฟกช้ำทางร่างกาย วิธีพูดคุยเมื่อลูกถูกละเมิดทางเพศออนไลน์ ผู้ปกครองต้องเปิดใจรับฟัง ไม่อคติคิดว่าเด็กแต่งเรื่อง ให้หาข้อมูลและหลักฐานให้ชัดเจน เมื่อทราบแน่ชัดแล้วต้องตั้งสติให้ดี ไม่โวยวาย ไม่โทษเป็นความผิดของลูก และพร้อมช่วยลูกแก้ปัญหา วิธีปฏิบัติเมื่อลูกถูกละเมิดทางเพศออนไลน์ สำหรับการดูแลลูกผู้ปกครองควรให้กำลังใจ พาลูกไปพบแพทย์เพื่อฟื้นฟูจิตใจ ตรวจร่างกายเพื่อหาโรคจากเพศสัมพันธ์ และสอนวิธีการป้องกันตัวจากสถานการณ์เลวร้ายต่าง ๆ สำหรับด้านกฎหมาย ควรเก็บหลักฐาน พร้อมแจ้งตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดี

3. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดต่อเด็กในโลกออนไลน์เป็นการเฉพาะ แต่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดความผิดหลายอย่างที่มีลักษณะเป็นการละเมิดเด็ก อาทิ กฎหมายว่าด้วยการกระทำอนาจาร กฎหมายว่าด้วยสื่อลามกอาจารเด็ก กฎหมายว่าด้วยการข่มขู่แบล็กเมล กฎหมายว่าด้วยการกลั่นแกล้งรังแกทางร่างกาย กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนในการแจ้งความ การสืบสวนจะเป็นไปตามกระบวนการ และสำหรับการซักถามเด็กจะมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติเพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย

4. การเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล

ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ แล้วหันมาใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในครอบครัวเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูก ควรเรียนรู้การใช้สื่อที่เหมาะสมกับอายุของลูก อาทิ ช่วงอายุ 0-2 ปี ควรงดสื่อทุกชนิด ช่วงอายุ 2-4 ปี ใช้สื่อภาพเคลื่อนไหว รูปทรง ดนตรี ภาพช้า ๆ ซ้ำ ๆ โดยมีผู้ปกครองเลือกโปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นที่มีคุณภาพให้เหมาะสมกับวัยและใช้ไปด้วยพร้อมกันกับเด็ก ไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมง ช่วงอายุ 4-12 ปี ใช้สื่อและสื่อออนไลน์ได้มากขึ้น แต่ไม่ควรเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง โดยมีผู้ปกครองดูแลชี้แนะ ช่วงอายุ 13-18 ปี เข้าถึงสื่อได้อิสระมากขึ้น แต่ยังต้องมีกฎกติกา เงื่อนไขกำกับดูแลจากผู้ปกครอง การเลี้ยงลูกยุคดิจิทัลมีหลักง่าย ๆ คือ ให้ความรักและเวลาคุณภาพ รับฟังมากกว่าสอน ช่วยลูกสร้างทักษะชีวิต ฝึกระเบียบวินัยควบคุมตนเอง กำหนดพื้นที่ปลอดมือถือภายในบ้าน สอนให้มีทักษะรู้เท่าทันสื่อ มีทางออกเชิงสร้างสรรค์อื่นๆนอกจากกิจกรรมหน้าจอ การใช้ Parental Controls คือ การควบคุมการใช้งานคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ตของบุตรหลาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพื่อให้เป็นไปตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ในครอบครัว เพื่อป้องกันการติดจอ การใช้งานที่ไม่เหมาะสม รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่าง ๆ การควบคุมดังกล่าว เช่น ให้ใช้งานได้วันละกี่ชั่วโมง ป้องกันการเล่นเกมอันตราย การเข้าถึงเว็บลามกอนาจาร การพนัน และอื่น ๆ นอกจากนี้ผู้ปกครองควรมีทักษะการสื่อสารเชิงบวก เพื่อให้การพูดคุยกับลูกเป็นไปอย่างราบรื่น เข้าใจกัน ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ต่อต้าน หรือละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูก

คลิ๊ก infographic นำไปใช้ได้เลยค่ะ for link

ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์


จำนวนผู้ดูเรื่องนี้: 1024

เขียนเมื่อ: 09-09-2024 12:15

ที่มา: healthymediahub

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ: มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

ประเภท

  • ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก

หมวดหมู่

  • สุขภาวะทางเพศ
  • ทักษะในชีวิต

Tags

ดูแล สื่อดิจิทัล เด็ก

ผู้ใช้ความรู้

  • ครู
  • ผู้ปกครอง

กลุ่มเป้าหมาย

  • ปฐมวัย
  • ประถมศึกษาตอนต้น

ระดับความง่ายในการนำไปใช้งาน: ใช้ได้ทันทีด้วยตนเอง

คำแนะนำการใช้:

ไม่มี





ชุดความรู้นี้ นำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนของท่านได้มากน้อยแค่ไหน?