< กลับหน้าแรก

กิจกรรมไข่ไขความลับหมวกกันน็อก

[Admin] เนื้อหานี้ยังไม่ได้เผยแพร่


เป็นกิจกรรมกลุ่มสัมปะชัญญะ จัดทำโดยโครงการอารักข์-อาสา เพื่อให้ด็ก ๆ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงคุณค่าของหมวกกันน็อก ที่จะช่วยลดการกระแทกของศีรษะหากเกิดอุบัติเหตุขณะซ้อนมอเตอร์ไซค์ และเพื่อเรียนรู้มาตรฐานของหมวกกันน็อก

กิจกรรมไข่ไขความลับหมวกกันน็อก image

วิธีการสอน

  1. การวางแผนให้เด็ก ๆ สังเกตหมวกแบบต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าการเดินทางด้วยการซ้อนมอเตอร์ไซค์ควรใส่หมวกแบบใดจึงจะปลอดภัย เพราะอะไร
  2. การปฏิบัติตามแผน
    • สมมติสถานการณ์ว่าเราจะซ้อนมอเตอร์ไซค์ออกไปข้างนอก ชวนเด็ก ๆ ให้มีส่วนร่วมในการทดลองความแข็งแรงของการใส่หมวกกันน็อกด้วยการทดลอง 3 แบบ
    • การทดลองครั้งที่ 1 อุปมากับการขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อกให้เด็กๆ นำไข่ใส่ในถ้วยพลาสติก และปิดฝาพันด้วยเทปให้แน่น แล้วทำการทดลองโดยให้เด็ก ๆ ชูมือสูง ๆ แล้วปล่อยไข่ลงบนพื้น สังเกตผลที่ได้ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไข่จะแตก ให้ครูเปรียบเปรยว่าไข่ที่ไหลออกมาเปรียบเสมือนศีรษะเราที่เมื่อโดนกระแทกแรง ๆ เลือดจะไหลออกมาแบบไข่ขาวและไข่แดงเละ ๆ การที่ศีรษะโดนกระแทกอย่างแรงมีผลต่อการทำงานของร่างกาย อาจทำให้พิการ หรือตายได้
    • การทดลองครั้งที่ 2 อุปมากับการขี่มอเตอร์ไซค์โดยใส่หมวก เช่นหมวกแก๊ป หมวกที่ใช้ในงานก่อสร้าง ซึ่งถือว่าไม่ได้มาตรฐานที่แท้จริงเพราะไม่แข็งแรงและหนาพอที่จะรับการกระแทก ให้เด็ก ๆ นำไข่ใส่ในถ้วยพลาสติก ใส่กระดาษทิชชูพันโดยรอบและปิดฝาพันด้วยเทปให้แน่น แล้วทำการทดลองโดยให้เด็ก ๆ ชูมือสูง ๆ แล้วปล่อยไข่ลงบนพื้น แล้วสังเกตผลที่ได้ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไข่ก็ยังแตก เพราะการห่อหุ้มที่ไม่แข็งแรงพอก็จะยังคงมีผลต่อการบาดเจ็บหรือตายได้
    • การทดลองครั้งที่ 3 อุปมากับการขี่มอเตอร์ไซค์โดยใส่หมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานให้เด็ก ๆ นำไข่ใส่ในถ้วยพลาสติก แล้วจัดฟองน้ำที่มีสก๊อตไบร์ตพันรอบไข่โดยรอบและปิดด้านบนฝาด้วยฟองน้ำสก๊อตไบร์ต ควรให้ส่วนฟองน้ำห่อหุ้มไข่ ส่วนด้านสก๊อตไบร์ตให้ติดที่ฝาถ้วย ปิดฝาพันด้วยเทปให้แน่น แล้วทำการทดลองโดยให้เด็ก ๆ ชูมือสูง ๆ แล้วปล่อยไข่ลงบนพื้น แล้วสังเกตผลที่ได้ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไข่จะไม่แตก เพราะได้รับการห่อหุ้มที่แข็งแรง บางครั้งมีความเป็นไปได้ที่ไข่จะแตก ขึ้นกับแรงกระแทกลงพื้น เปรียบได้เสมือนอุบัติเหตุที่ได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง หมวกกันน็อกก็ไม่สามารถที่จะช่วยปกป้องศีรษะได้
    • ครูชวนให้เด็ก ๆ ดูลักษณะของหมวกกันน็อกของจริง ถ้าเป็นไปได้น่าจะผ่าหมวกกันน็อกออกเป็น 2 ซีกเพื่อให้เด็ก ๆ เห็นด้านในของหมวกกันน็อก
  3. ให้เด็ก ๆ ลองหัดใส่หมวกกันน็อกให้ถูกวิธี คือรัดสายรัดใต้คางทุกครั้ง ซึ่งมักพบว่าเด็ก ๆ จะบ่นว่าหนักหรือร้อน เพราะยังไม่คุ้นชิน ทางโครงการจึงขอเสนอให้เด็ก ๆ ได้ระบายสีบนหมวกกันน็อกของตนเอง เมื่อเด็กมีหมวกกันน็อกของตนเอง ก็จะทำให้รู้สึกอยากใส่มากขึ้น และเชิญชวนให้เด็ก ๆ กลับไปชวนให้ผู้ปกครองใส่ขณะเดินทางโดยใช้รถมอเตอร์ไซค์
  4. ปัญหาของการทำงานนี้คืออะไร และมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าเลือกได้จะใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างเดิมหรือไม่

ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์


จำนวนผู้ดูเรื่องนี้: 610

เขียนเมื่อ: 10-08-2022 10:14

ที่มา: โครงการอารักข์ อาสา

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ:

หมวดหมู่

  • ความปลอดภัยทางถนน

ผู้ใช้ความรู้

  • ครู

กลุ่มเป้าหมาย

  • ประถมศึกษาตอนต้น
  • ประถมศึกษาตอนปลาย

ระดับความง่ายในการนำไปใช้งาน: ใช้ได้ทันทีด้วยตนเอง

คำแนะนำการใช้:

-





ชุดความรู้นี้ นำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนของท่านได้มากน้อยแค่ไหน?