โลกของเด็กสมาธิสั้น
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น หรือครอบครัวที่มีคนเป็นโรคสมาธิสั้นทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้มาก เมื่อเข้าช่วงวัยรุ่นก็จะมีพฤติกรรมเสี่ยงโดยที่ตัวเขาเองไม่สามารถหักห้ามใจได้ ซึ่งจะเป็นปัญหากระทบต่อสังคมส่วนรวมได้

โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่พบเยอะที่สุดในเด็กวัยเรียน พบมากถึงร้อยละ 10 ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการรักษาช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่ต้องช่วยเด็กแต่คุณครูที่โรงเรียน เพื่อน และคนในสังคมจะต้องมีองค์ความรู้เพื่อที่ทุกคนจะได้มีส่วนในการช่วยเหลือเด็ก
โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attentive Deficit Hyperactivities Disorder)
มีอาการแสดงได้หลากหลายแบบ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
-
กลุ่มซน อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) เรียกว่า เจ้าคึกคัก
-
กลุ่มหุนหันพลันแล่น วู่วาม (Impulsivity) เรียกว่า เจ้าหัวร้อน
-
กลุ่มขาดสมาธิ (Attention Deficit) เรียกว่า เจ้าเหม่อเนือย
อาการสมาธิสั้นทั้ง 3 รูปแบบนี้ เด็กแต่ละคนมีอาการทั้งหมดไม่เท่ากัน และเด็กคนเดียวกันถึงแม้จะเป็นในช่วงวัยที่แตกต่างกัน อาการแสดงก็จะแตกต่างออกจากกันด้วย ส่วนใหญ่ถ้าเป็นในเด็กเล็กอาการแสดงให้เห็นชัด คือ ซน ป่วน ก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ มีปัญหากับคนในครอบครัวบ่อย ๆ อาการเด่นจะเป็น เจ้าคึกคักและเจ้าหัวร้อน แต่เมื่อโตขึ้นเจ้าคึกคักและเจ้าหัวร้อนจะค่อย ๆ ลดลง ทำให้คนเข้าใจว่าเด็กหายจากการเป็นโรคสมาธิสั้นแล้ว เพราะพออายุเพิ่มมากขึ้น อาการสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบเจ้าเหม่อเนือย ซึ่งจะสังเกตอาการยากหน่อย เพราะไม่ค่อยรบกวนคนอื่น ไม่มีสมาธิ วอกแวก มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเวลา การวางแผนจัดการสิ่งต่าง ๆ
เมื่อคุณครูพบว่าเด็กน่าจะเป็นสมาธิสั้น
จะมีวิธีพูดคุยอย่างไรเพื่อให้ผู้ปกครองยอมรับและพาเด็กมาตรวจประเมินรักษา ไม่ควรเริ่มต้นว่าเด็กผิดปกติ ผู้ปกครองบางคนอาจไม่ยอมรับว่า ลูกของเขาป่วยและมีความแตกต่างจากคนอื่น เริ่มจากเล่าปัญหาในห้องเรียนให้ฟัง เช่น เด็กดูไม่มีสมาธิ ส่งงานไม่ครบ รับฟังปัญหาของผู้ปกครอง เช่น ตอนอยู่ที่บ้าน เด็กมีพฤติกรรมเป็นอย่างไรบ้าง ซน ป่วน การทำกิจวัตรต่าง ๆ ก็ต้องจู้จี้จุกจิกจนมีปัญหาทะเลาะกันหรือไม่ เอาปัญหาที่เป็น pain point ของผู้ปกครองมาเป็นตัวดึงให้เขาไปพบแพทย์ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเห็นว่าเรื่องผลการเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ก็อาจคุยว่า ลองไปให้คุณหมอประเมินดูก่อนว่าเด็กมีปัญหาตรงไหนไหมจะได้ช่วยเหลือให้เขาสามารถมีผลการเรียนที่ดีขึ้น
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น
-
พันธุกรรม (genetic)
-
โครงสร้างของสมอง การทำงานของสมอง และสารสื่อประสาทในสมองมีความผิดปกติ
-
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
-
ปัจจัยด้านสังคม
การรักษาสมาธิสั้น
การรักษาสมาธิสั้นจำเป็นที่จะต้องใช้หลายวิธีในการรักษาร่วมกันถึงจะได้ผลดี ที่สำคัญคือ ต้องเป็นการกินยาร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ
คลิ๊กดู Infographic เพิ่มเติม ได้เลย
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์