“เล่นกลางโรค” เล่นอย่างปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
คู่มือ “เล่นกลางโรค” เป็นเครื่องมือส่งเสริมกิจกรรมทางกายนักเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและได้เล่นอย่างปลอดภัย โดยรวบรวมกิจกรรมการเล่นของญี่ปุ่นและไทยเข้าไว้ด้วยกัน
ความสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน
กิจกรรมทางกายที่เพียงพอมีความสำคัญสำหรับเด็ก การสะสมกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักให้ได้ 60 นาทีทุกวัน นั้นสัมพันธ์กับสมรรถภาพทางกายที่ดี ทักษะการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน สุขภาพของกระดูก การทำงานของสมอง สุขภาพจิต และการพัฒนาทางอารมณ์และสังคม โดยโรงเรียนจะมีบทบาทและความสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็ก เนื่องจากเด็กต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง หรือ 1 ใน 3 ของวัน อยู่ที่โรงเรียน
การติดตามและเฝ้าระวังการมีกิจกรรมทางกายร่วมกันของเด็กนักเรียนในช่วงที่มีโรคระบาด
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค การขัดขวางหรือห้ามไม่ให้เด็กเล่นร่วมกันทำได้ยาก ครูและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจึงต้องสังเกต และดูแลเด็กย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และสามารถแยกเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการป่วยออกจากเด็กกลุ่มปกติได้อย่างทันท่วงที เพื่อส่งต่อเด็กที่ป่วยเข้าสู่การรักษาและการดูแลจากผู้ปกครองโดยเร็วที่สุด
แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
- การประเมิณสถานการณ์และระดับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โดยใช้ข้อมูลจากการประเมินสถานการณ์มากกำหนดแนวทางส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการป้องกันโรคภายในโรงเรียน
- การสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางที่โรงเรียนจะดำเนินการอย่างน้อย 3 ฝ่าย ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน
- การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด
การสื่อสารกับนักเรียน โรงเรียนจัดปฐมนิเทศและฝึกอบรมทักษะเกี่ยวกับแนวทางการใช้ชีวิตที่โรงเรียนอย่างปลอดภัย สร้างประสบการณ์ร่วมเชิงบวกให้นักเรียนทุกคนมีส่วนรับผิดชอบและช่วยให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดเชื้อ สร้างข้อตกลงในการปฏิบัติตน การเล่น และการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือใช้แนวทางการเล่นเป็นกลุ่มเล็ก (Small Bubble) ให้เด็กได้เลือกกลุ่มเพื่อนอย่างสมัครใจ โดยกำหนดกลุ่มดังกล่าวเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน เพื่อไม่ให้เกิดการปะปนข้ามกลุ่มของนักเรียน
การสื่อสารกับครู จัดอบรมและฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ครูมีโอกาสได้ทดลองฝึกทักษะการสื่อสารและการปฏิบัติในขั้นตอนต่าง ๆ จนเกิดความมั่นใจ และใช้เครื่องมือ/สื่อต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
การสื่อสารกับผู้ปกครอง ชี้แจงนโยบายและการเตรียมความพร้อมของโรงเรียน ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดูแลและป้องกันความเสี่ยงของนักเรียนเมื่อยู่ที่บ้าน สื่อสารข้อมูลเชิงสถานการณ์ ความเสี่ยง ผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจในการตัดสินใจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บุตรหลานมาโรงเรียน
คู่มือ ”เล่นกลางโรค” รวบรวมกิจกรรมการเล่นของญี่ปุ่นและไทยจำนวน 50 กิจกรรม
แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. การเล่นเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing Play)
2. การเล่นในช่วงปกติ (Normal Play)
การให้คำแนะนำและช่วยเหลือเด็ก
ผู้ฝึกสอนต้องคิดร่วมกับเด็ก เคารพความเป็นปัจเจกบุคคลและรับผิดชอบในการทำงานร่วมกับเด็ก เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เด็กสามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง กระตุ้นให้เด็กใช้ความพยายามมากขึ้น
มุมมองสำคัญที่จำเป็นสำหรับผู้สอนที่ดี
- เริ่มด้วยปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกาย
- สัมผัสกับประสบการณ์จากการปฏิบัติที่หลากหลาย
- การรักษากิจกรรมทางกายและระดับคนวามหนักของกิจกรรม
- คำนึงถึงความแตกต่างของการเจริญเติบโตและพัฒนาการเฉพาะบุคคล
- แนะนำโปรแกรมต่าง ๆ ให้เด็กเข้าใจ
- ชื่นชมเมื่อเด็กประสบความสำเร็จ
- สร้างบรรยากาศที่ดีคึกคักและสนุกสนานอยู่เสมอ
- เสริมสร้างและกระตุ้นพัฒนาการด้านจิตใจและสังคม
- สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กเล็กและเด็กโตให้ได้มากที่สุด
- แบ่งปันข้อมูลการสอน
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์