หนีความอยากตายจากโรคซึมเศร้า
“โรคซึมเศร้า” เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กวัยเรียน ที่มีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตายสูงขึ้น เราจึงควรรู้วิธีป้องกันคนใกล้ตัวที่เป็นโรคซึมเศร้าก่อนจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้น

ทำไม ‘ซึมเศร้า’ แล้วถึงอยากตาย
คนที่เสียชีวิตโดยการฆ่าตัวตายนั้นเกิดจากภาวะความรู้สึกที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ ซึ่งเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนี้
- ความรู้สึกโดดเดี่ยวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
- การรู้สึกว่าตนเป็นภาระ
- พลังในการฆ่าตัวตาย หรือความไม่กลัวตาย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงคิดฆ่าตัวตายคือ การเผชิญเหตุการณ์ทางลบ เช่น ขัดแย้งกับคนที่มีความสำคัญต่อชีวิต ว่างงาน หรือมีความเจ็บป่วยทางร่างกาย ด้วยความรู้สึกผิด และมักโทษตัวเองอยู่เป็นทุน อาจเป็นแรงผลักดันให้ผู้ป่วยมีพลังที่จะทำร้ายตัวเอง เริ่มกลัวตายน้อยลง และพยายามฆ่าตัวตายในที่สุด
โรคซึมเศร้ามีหลายระดับอาการ จะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นได้ ซึ่งระดับที่น่าเป็นกังวลคือ
-
โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major Depression) เป็นอาการซึมเศร้าที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น การทำงานหรือการเรียน รวมไปถึงการนอนหลับและการกินอยู่อย่างเป็นปกติสุขอย่างรุนแรง
-
โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder) มีอาการและความรุนแรงของอาการน้อยกว่า แต่ภาวะซึมเศร้าจะคงอยู่กับผู้ป่วยยาวนานกว่ามาก เป็นเวลาอย่างน้อยตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังอาจมีบางช่วงที่ต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าชนิดรุนแรงร่วมด้วย
รู้ทันวัยรุ่นซึมเศร้าอยากตาย
แนวโน้มการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยอายุที่ประมาณ 15-24 ปี มีสาเหตุมาจาก
- ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying) เช่น ถูกแกล้งผ่านโซเชียลมีเดีย (Cyberbullying) ทำให้เด็กเกิดความเครียดจนเสียสุขภาพจิต และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ทำให้ตัดสินใจเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อหาทางออกให้กับชีวิตได้
- เกิดความเครียด หรือวิตกกังวล มักมีสาเหตุมาจากถูกประเมินเรื่องการเรียน เช่น ผลสอบ หรือเกรดที่ผิดไปจากความคาดหวัง ก็อาจถูกพ่อแม่ตำหนิ
- ปัญหาครอบครัว หลายครั้งการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเกิดจากปัญหาครอบครัว ไม่ว่าจะเพราะความขัดแย้งกันในครอบครัว ปัญหาการใช้ความรุนแรง หรือขาดความอบอุ่น ปัญหาเหล่านี้อาจลุกลามและเรื้อรัง จนทำให้เด็กเกิดอาการทางจิตเวช เช่น โรคประสาท โรคบุคลิกภาพแปรปรวน รวมถึงโรคซึมเศร้า
- ปัญหาความรัก วัยรุ่นมักจะทุ่มเทความรู้สึกให้กับคนที่ตนกำลังคบหาอย่างเต็มที่ หากเกิดอาการอกหัก หรือผิดหวังในความรักขึ้นมา อาจตัดสินใจทำอะไรโดยใช้อารมณ์เป็นหลัก เช่น การคิดสั้นฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง บางคนไม่สามารถหลุดจากภาวะเศร้า อกหักได้ ก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
สังเกตพฤติกรรมวัยรุ่นแค่เซ็ง หรือซึมเศร้า
วัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้าแฝงอาจไม่แสดงอารมณ์ออกมาชัดเจน บ่อยครั้งที่คนรอบข้างคิดว่าเป็นแค่วัยรุ่นเจ้าอารมณ์ หรือเด็กมีปัญหาทั่วไป เช่น
- พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น โดดเรียน แยกตัว เกเร ก้าวร้าว หงุดหงิด เบื่อซึม ท้อแท้ ไม่ร่าเริงเหมือนเก่า อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ร้องไห้บ่อย
- ความสามารถเปลี่ยนไป เช่น การเรียนตกต่ำ ไม่มีสมาธิ ไม่สนใจทำกิจกรรมอย่างเคย ไม่ดูแลตัวเอง เอาแต่นอนซมอยู่บนเตียงนอน เก็บตัว
- ความคิดเปลี่ยนไป เช่น มองตัวเองในแง่ลบ คิดว่าตัวเองไร้ค่า บ่นอยากตาย หรือเริ่มทำร้ายตัวเอง
เด็กวัยรุ่นห่างซึมเศร้า เริ่มที่ครอบครัว
- คนในครอบครัวต้องใส่ใจเปิดใจและรับฟัง
- อย่าปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
- หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน
- ทิ้งความเครียดไว้นอกบ้าน
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์