โลกกลม ๆ ที่เรียกว่า ...ดิจิทัล
“สื่อ” มีอิทธิพลกับสังคมทุกยุคทุกสมัย “การรู้เท่าทันสื่อ” จึงเป็นกลไกสำคัญของการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

โลกดิจิทัล
โลกดิจิทัลตอบสนองการดำเนินชีวิตประจำวันของเราในหลากหลายรูปแบบ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาหรือสถานที่อีกต่อไป เป็นโอกาสให้เราเป็นทั้งผู้รับข้อมูลข่าวสาร และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้เลือกหรือสร้างเนื้อหาได้เองผ่านแอปพลิเคชันและหน้าจอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่ให้ความรู้ ความบันเทิง ไปจึงถึงการขับเคลื่อนและแสดงออกทางสังคมในระดับประเทศและระดับโลก ดึงดูดให้เราใช้เวลาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เหมือนได้เปิดประตูไปที่ใหม่ ๆ ตลอดเวลา
ปัญหาการติดอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน
เมื่อเด็กใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเป็นเวลานาน อาจทำให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงที่จะเจอภัยออนไลน์ได้มากขึ้น เช่น
- การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์
- การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์
- ติดเกมส์
- ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า
พ่อแม่กับโลกดิจิทัล
โลกดิจิทัลมีเทคโนโลยีซับซ้อนและรวดเร็วกว่าโลกที่ผู้ใหญ่คุ้นเคย จึงเกิดคำจำกัดความคนยุคพ่อแม่ว่า “ดิจิทัลอิมิแกรนท์ (Digital Immigrant)” เปรียบเสมือนผู้เดินทางข้ามผ่านยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี ส่วนเด็ก ๆ นั้นเกิดในยุคดิจิทัลอย่างสมบรูณ์ เป็น “ดิจิทัลเนทีฟ (Digital Natives)” จึงมีทักษะและคุ้นเคยในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างชำนาญตั้งแต่วัยเด็ก
การปล่อยให้เด็ก ๆ ท่องอยู่ในโลกดิจิทัลเพียงลำพังเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในเด็กเล็กเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเด็กเล็กควรได้พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ จากการเรียนรู้สิ่งรอบตัวผ่านการใช้มือ แขนขา อวัยวะทุกส่วนรวมถึงสมอง เพื่อสร้างประสบการณ์ในโลกความเป็นจริงที่ช่วยพัฒนาความคิดและอารมณ์ของเด็กในอนาคต
ภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล
การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวขนรู้เท่าทันสื่อได้จากการส่งเสริมซึ่งกันและกัน คือ ”ทักษะที่เหมาะสมกับวัย” และความรู้สึกเชิงบวกจากพ่อแม่” พ่อแม่ควรให้ความรัก ความอบอุ่น “ความเข้าใจ” กับเด็กทั้งในชีวิตจริงและโลกดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อการแสดงออกและการเรียนรู้แตกต่างกันในแต่ละวัย
รอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint)
คือ คำที่ใช้เรียกร่องรอยการกระทำต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งไว้หลังจากใช้งานในโลกดิจิทัล ซึ่งจะยังคงร่อยรอยไว้ แม้ข้อมูลจะถูกลบไปแล้วก็ตาม การกระทำทุกอย่างในอินเทอร์เน็ตจะถูกบันทึกไว้ 2 แบบ คือ
- รอยเท้าดิจิทัลที่ผู้ใช้ตั้งใจทิ้งไว้ เป็นข้อมูลที่เราตั้งใจเปิดเผยโดยที่รู้ตัว เช่น สิ่งที่เราโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ชื่อโปรไฟล์ กดไลค์ กดแชร์ หรือสถานที่ที่เราเคยไป
- รอยเท้าดิจิทัลที่ผู้ใช้ไม่ตั้งใจทิ้งไว้ เป็นข้อมูลที่เราไม่รู้ตัว เช่น IP Address Search History GPS ประวัติการซื้อสินค้า
ลิงก์ไปยังเนื้อหา: กดเพื่อเรียกลิงก์