< กลับหน้าแบบวัดผล

แบบวัดผล

แบบประเมินความสุขของเด็กไทย: ระดับมัธยมศึกษา

คำชี้แจง

แบบประเมินความสุขของเด็กมัธยมศึกษา (Secondary Child Happiness: SCH-Thai 12) เป็นแบบประเมินของแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) ที่พัฒนาขึ้นจากกรอบแนวคิด ECCE Happiness Framework และ Triad for Happiness แบ่งออกเป็น 2 สมรรถนะใหญ่ๆ คือ สมรรถนะด้านอารมณ์ (Emotional Competence) 3 องค์ประกอบ และสมรรถนะด้านสังคม (Social Competence) 4 องค์ประกอบ

แบบประเมิน SCH-Thai 12 เป็นเครื่องมือที่ผ่านการวิจัยและทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการคัดกรองหรือประเมินระดับความสุขของเด็กได้ดี โดยมีค่าความเที่ยงของมาตรวัดด้วยสัมประสิทธิ์ Reliability Cronbach’s alpha เท่ากับ 0.814

คุณสมบัติของเครื่องมือ

  1. แบบประเมิน SCH-Thai 12 พัฒนาขึ้นโดยใช้กลุ่มคนเป็นมาตรฐาน (Normative Model) ในการกำหนดเกณฑ์ปกติ (Norm) เนื่องจากยังไม่มีการตรวจมาตรฐาน (Goal Standard) ของความสุขเด็กมัธยมศึกษา ว่ามีความสุขมากน้อยเพียงใด
  2. การพัฒนาแบบประเมิน SCH-Thai 12 ผ่านการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง จากนั้นสร้างเป็นข้อคำถามให้สอดคล้องกับกรอบแนวคิด และตรงตามเนื้อหาที่ต้องการประเมิน (Content Validity) นำลงไปทดสอบรอบแรกกับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก (111 คน) ด้วยข้อคำถามทั้งหมด 33 ข้อ คัดกรองข้อคำถามโดยใช้สถิติ Factor Analysis ที่สามารถจัดหมวดหมู่ได้ครบ 7 องค์ประกอบ และอธิบายเนื้อหาร่วมกันได้มากกว่าร้อยละ 70 จึงจัดว่าเนื้อหาของจำนวนข้อคำถามครอบคลุมในเกณฑ์ค่อนข้างเหมาะสม ตลอดจนหาความเที่ยงของมาตรวัดด้วย Reliability Cronbach’s Alpha ที่อยู่ในเกณฑ์ดีมีค่าตั้งแต่ 0.7 ขึ้นไป เมื่อได้ข้อคำถามที่มีจำนวนข้อและเนื้อหาเข้าเกณฑ์มาตรฐาน แล้วจึงนำลงไปทดสอบรอบที่สอง ที่มีขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อดู External Reliability
  3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลรอบแรก จากจำนวนข้อคำถาม 33 ข้อ สามารถสกัดจำนวนข้อคำถามที่ใช้ได้ 12 ข้อ มีความสามารถอธิบายเนื้อหาร่วมกันได้ (Common Variance) 84.29% และค่าความเที่ยงของคะแนนการวัด (Cronbach’s Alpha) 0.639 และเมื่อนำไปใช้ในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่นจำนวน 378 คน พบว่า ได้ค่าความสามารถอธิบายเนื้อหาร่วมกันเพิ่มขึ้น (Common Variance) 86.44% และค่าความเที่ยงของคะแนนการวัด (Cronbach’ s Alpha) 0.765

ข้อกำหนดและคำชี้แจงในการประเมิน

1) แบบประเมินนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 13-18 ปี (ไม่จำกัดเพศ)

2) การประเมินใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที

3) ก่อนเริ่มทำแบบประเมิน ควรทำความเข้าใจกับตัวเด็กให้เข้าใจว่า

  • การประเมินนี้เป็นเพียงการประเมินและคัดกรองความสุขของเด็กในเบื้องต้นเท่านั้น
  • อธิบายวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของการประเมินให้เด็กเข้าใจก่อนเริ่มประเมิน และให้เวลามากพอสำหรับเด็กในการตัดสินใจเลือกข้อที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงของเด็กให้มากที่สุด
  • ขอให้ตอบแบบประเมินให้ครบทุกข้อ และในแต่ละข้อให้เลือกตอบข้อเดียวเท่านั้น

4) แบบประเมินนี้เหมาะกับการประเมิน ณ สถานการณ์ปัจจุบันของเด็ก เพื่อความเที่ยงตรงและแม่นยำที่สุด และไม่แนะการนำไปใช้เพื่อการประเมินย้อนหลัง (Retrospective Recall Evaluation)

5) เพื่อให้การประเมินเป็นไปตามนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และ พรบ. คุ้มครองเด็ก แนะนำให้มีกระบวนการให้ข้อมูลและขอความยินยอมจากพ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กก่อนทำการประเมิน มีกระบวนการรักษาความลับ และบริหารจัดการการจัดเก็บข้อมูลให้ยากต่อการเข้าถึงของบุคคลอื่น ไม่ระบุข้อมูลส่วนบุคคลจริงของเด็ก โดยสามารถใช้นามสมมุติหรือเลขรหัสแทน

การให้คะแนน

กลุ่มที่ 1 ข้อ 1 2 4 5 6 10 11 และ 12

  • น้อยที่สุด ให้ 1 คะแนน
  • น้อย ให้ 2 คะแนน
  • ปานกลาง ให้ 3 คะแนน
  • มาก ให้ 4 คะแนน
  • มากที่สุด ให้ 5 คะแนน

กลุ่มที่ 2 ข้อ 3 7 8 และ 9

  • น้อยที่สุด ให้ 5 คะแนน
  • น้อย ให้ 4 คะแนน
  • ปานกลาง ให้ 3 คะแนน
  • มาก ให้ 2 คะแนน
  • มากที่สุด ให้ 1 คะแนน

การแปลผลการประเมิน

แบบประเมินความสุขของเด็กไทย: ระดับมัธยมศึกษา 12 ข้อ มีคะแนนเต็มทั้งหมด 60 คะแนน เมื่อได้ข้อมูลจากการประเมินแล้ว และรวมคะแนนทุกข้อได้คะแนนเท่าไหร่ สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติที่กำหนดดังนี้

  • คะแนน 49-60 คะแนน หมายถึง มีความสุขในระดับมาก
  • คะแนน 36-48 คะแนน หมายถึง มีความสุขระดับปานกลางในเกณฑ์ปกติ
  • คะแนน 0-35 คะแนน หมายถึง มีระดับความสุขในระดับน้อย

1. ฉันชอบกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว

2. พ่อแม่สอนฉันให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว

3. ฉันรู้สึกโดดเดี่ยวในการใช้ชีวิตประจำวัน

4. ฉันรู้สึกอบอุ่นและมีความสุขเมื่ออยู่ที่บ้าน

5. ฉันกับเพื่อนมีพื้นที่ในการทำกิจกรรม/เล่น เป็นของตัวเอง

6. ฉันรู้สึกว่าสังคม/ชุมชน/หมู่บ้านที่ฉันอยู่ มีความปลอดภัย

7. ฉันจะรู้สึกโกรธเมื่อถูกล้อเลียนจากคนรอบข้าง

8. ฉันรู้สึกว่าฉันไม่ได้รับความยุติธรรมจากพ่อแม่/คุณครู

9. ฉันรู้สึกว่าพ่อแม่/คุณครูไม่ชอบฉัน

10. ฉันจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ เมื่อถูกละเมิดสิทธิ์ส่วนตัว

11. ฉันและครอบครัวไปช่วยงานสังคม/ชุมชน/หมู่บ้านอยู่เสมอ

12. ผู้ใหญ่ในสังคม/ชุมชน/หมู่บ้านหากิจกรรมให้ฉันกับเพื่อนได้ทำร่วมกัน


เมื่อท่านกดส่งข้อมูล ระบบจะบันทึกชื่อแบบประเมินและผลลัพธ์ โดยไม่ระบุตัวตนของท่าน ข้อมูลนี้จะถูกนำไปใช้ศึกษาและพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ