< กลับหน้าแรก

เปลี่ยนห้องเรียนให้ Active ลดการเนื่อยนิ่ง เด็กขยับ ครูขยับ โรงเรียนนิคมบางระกำ 4 บางระกำชนูปถัมภ์ จ. พิษณุโลก


เขียนเมื่อ: 24-02-2025 12:51 โดย วรรณา เลิศวิจิตรจรัส

โรงเรียนนิคมบางระกำ 4 (บางระกำชนูปถัมภ์) จ. พิษณุโลก เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สอนระดับชั้น อนุบาล 2 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมดเพียง 46 คน โรงเรียนไม่เพียงเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการของนักเรียน แต่ยังต้องรับมือกับความท้าทายของการมีครูไม่ครบชั้น ซึ่งส่งผลให้ต้องจัดการเรียนการสอนแบบรวมชั้นเรียน

เปลี่ยนห้องเรียนให้ Active ลดการเนื่อยนิ่ง เด็กขยับ ครูขยับ  โรงเรียนนิคมบางระกำ 4 บางระกำชนูปถัมภ์ จ. พิษณุโลก image

โรงเรียนได้พยายามแก้ปัญหา จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมด้านโภชนาการ โดยมีจัดอบรมให้ความรู้เรื่องโภชนาการให้กับผู้ปกครอง ทำ MOU กับผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ในส่วนของนักเรียน จัดอบรมให้ความรู้ ทัศนคติ และทักษะด้านสุขภาพของนักเรียนให้สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีของครอบครัวและชุมชน ทำการสำรวจคัดกรองสุขภาวะนักเรียนด้วยแบบประเมินภาวะโภชนาการ ในส่วนนักเรียนที่มีปัญหาด้านโภชนาการ (ผอม) โรงเรียนได้จัดอาหารเสริมมื้อเช้าให้ทานเพิ่ม

นอกจากปัญหาทางโภชนาการของนักเรียนแล้ว ยังพบปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่สนใจการเรียน เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กมีครูไม่ครบชั้นเรียน ทำให้นักเรียนต้องเรียนร่วมชั้นกัน เช่น ชั้น ป.1 เรียนร่วมกับ ป.2 ต้องนั่งรอ และครูก็เหนื่อยล้าจากการสอนแบบนี้ นอกจากนี้โรงเรียนยังประสบปัญหาครูย้ายบ่อย เมื่อครูครบกำหนดก็ทำเรื่องย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่น

ปี 2567 ภายใต้การนำของ ผอ.ปัทมาพร นกผึ้ง จึงได้ริเริ่มทำโครงการโรงเรียนสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะ กับทาง Child Impact โดยได้ประชุมครูเพื่อหาแนวแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่งของนักเรียน จึงได้คิดโปรแกรมส่งเสริมทางกายขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนมีการเคลื่อนไหวตลอดทั้งวันเป็นเวลา 120 นาที (600 นาทีต่อสัปดาห์) เริ่มตั้งแต่

  • 7.30 น กิจกรรมทำความสะอาดเขตบริการ ในทุกเช้าก่อนเข้าเรียน ให้นักเรียนรับผิดชอบทำความสะอาดตามเขตพื้นที่กำหนด ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
  • 8.00 น. กิจกรรมออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติ โดยมีตัวแทนนักเรียนมาเป็นคนนำกิจกรรมสลับผลัดเปลี่ยนกัน เช่น เต้นประกอบจังหวะ คีตะมวยไทย เต้นแอโรบิก (10 นาที)
  • 8.30 น. เรียนช่วงเช้า Active Learning เรียน เล่น รู้ ในรายวิชา ทุกระดับชั้น กิจกรรมนี้จะทำให้เด็กไม่เนือยนิ่ง และยังช่วยให้เด็กจะมีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น โดย 1 คาบเรียน (1.30 ชั่วโมง) จะใช้เวลาในการทำกิจกรรม 20 นาที (ตัวอย่างกิจกรรมด้านล่าง)
  • 11.30 น. Walk Rally & Free Play คือการให้นักเรียนเดินไปเรียนในวิชาต่างๆ และการเล่นอย่างอิสระ(20 นาที)
  • 12.30 น. เรียนช่วงบ่าย Active Learning เรียน เล่น รู้ ในรายวิชา (20นาที)
  • 15.30 น. หลังเลิกเรียน ทำความสะอาดเขตบริการ หรือ เล่นอิสระ (20นาที)
  • 16.30 น. กลับบ้าน ปั่นจักรยานและเดินทางกลับบ้าน (10 นาที) ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ปั่นจักรยานและเดินมาโรงเรียน ส่วนน้อยที่ผู้ปกครองขี่มอเตอร์ไซด์มาส่ง จึงถือว่าการเดินทางกลับบ้าน เด็กก็ได้ขยับร่างกายเช่นกัน

ตัวอย่างกิจกรรม Active Learning ในห้องเรียน

Active Learning

กิจกรรม Active Learning ในห้องเรียนได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละระดับชั้น ในระดับอนุบาล เน้นการเต้นตามจินตนาการเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการเคลื่อนไหว ส่วนระดับประถมศึกษามีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการเต้นแอโรบิค โยคะตามเพลงที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะเรียน หรือเต้นตามเทศกาลต่างๆ หรือเกมเข้าสู่บทเรียน เพื่อเป็นการกระตุ้นนักเรียนให้สนใจเนื้อหาบทเรียน และสนุกกับการเรียนมากขึ้น เช่น วิชาภาษาไทย สอนเรื่องคำสุภาษิต คำพังเพย ครูจะส่งแป้งให้เด็กส่งต่อๆ กันหากแป้งหยุดตรงใครครูให้นักเรียนทายภาพ ใครทายผิดจะถูกทาแป้ง

ปรับพื้นที่เพื่อให้เด็กได้เล่นอิสระ

โรงเรียนมีการจัดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้เด็กได้เล่นอิสระ ในหลายจุดภายในโรงเรียน รวมถึงได้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเล่นหรือทำกิจกรรมของนักเรียน ในช่วงพักกลางวัน อาทิเช่น วอลเล่ย์บอล เปตอง แบตมินตัน เป็นต้น รวมถึงพื้นที่สำหรับเด็กเล็กที่มีเครื่องเล่นปลอดภัย

เมื่อครูขยับ เด็กก็ขยับ

ถ้าครูเนือยนิ่งเด็กก็จะเนือยนิ่งด้วย เพราะฉะนั้นครูจะต้องเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้น โดยครู ต้องมีพลังเยอะกว่าเด็ก

ครูภิรดา สีขาว บอกเทคนิค ว่า “ ถ้าอยากให้เด็กสนุกกับเรา เราต้องปล่อยพลังเข้าไปเยอะๆ เด็กถึงจะสนุก เมื่อเราสนุก เด็กก็จะสนุกตาม ” การกระตุ้นนักเรียนที่ดีอีกอย่างก็คือ เพลง และเนื้อหาที่มีสื่อการสอน เป็น วิดีโอ หรือ รูปภาพ เพราะเด็กๆ จะชอบ ครูสามารถค้นหาสื่อเพิ่มเติมจาก Child Impact และ youtube และนำกิจกรรมมาปรับใช้ให้เข้ากับห้องเรียนของตัวเองได้

ให้เป็นนโยบายของโรงเรียน

ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนน้อยและครูไม่เพียงพอ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มอบ นโยบาย active learning และมีการวางแผนโปรแกรมส่งเสริมทางกายไว้ให้กับโรงเรียนแล้ว หากมีการเปลี่ยนครู และมีครูมาใหม่ คิดว่าโปรแกรมส่งเสริมทางกาย และ Active Learning จะทำให้นักเรียนตื่นตัว ลดปัญหาความเนือยนิ่งลงได้

หลังจากทำโครงการฯ จะเห็นว่า เมื่อก่อนเด็กจะง่วงก่อนเรียน ไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่ ดูเบลอๆ ชอบมองไปที่อื่นบ้าง แต่พอมีกิจกรรมทางกายเข้ามา เด็กๆ จะตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น พร้อมที่จะเรียน เด็กจะสนุกกับบทเรียนนั้นๆ แล้วเขาก็เข้าใจในบทเรียนมากขึ้นด้วย

ผอ. ปัทมาพร นกผึ้ง กล่าวว่า “จากการดำเนินโครงการฯ พบว่า ทั้งครูและนักเรียนมีการตื่นตัวที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะเรียนรู้มากขึ้น สุขภาพร่างกายนักเรียนดีขึ้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นด้วย”

ปรับพื้นที่

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการฯ

เทคนิคการทำงานของโรงเรียนนิคมบางระกำ 4 ได้แก่

  1. การทำงานเป็นทีม ต้องกำหนดให้แต่ละคนมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมและประสานงานกับนักเรียน โดยใช้รูปแบบการทำงานเป็นทีม เพื่อแบ่งเบาภาระ และทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลกิจกรรมในโรงเรียน

  2. การจัดตารางกิจกรรมให้สอดคล้อง วางแผนกิจกรรมทางกายให้สอดคล้องกับตารางเรียนปกติ และไม่กระทบการสอนวิชาอื่นๆ โดยอาจจัดในช่วงเวลาว่างหรือตอนเช้าก่อนเข้าเรียน เพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่าเต็มที่


หัวข้อ

  • แฮปปี้ใจ เฮลตี้จัง

หมวดหมู่

  • กิจกรรมทางกาย

ผู้ใช้ความรู้

  • ผู้บริหารสถานศึกษา
  • ครู

กลุ่มเป้าหมาย

  • ปฐมวัย
  • ประถมศึกษาตอนต้น
  • ประถมศึกษาตอนปลาย