จากโรงเรียนสู่ชุมชน รวมพลังสร้างสังคมปลอดเหล้า บุหรี่ โรงเรียนชุมชนกุดหมากไฟ จ.อุดรธานี
เขียนเมื่อ: 18-02-2025 17:15 โดย Marin
“บุหรี่ไฟฟ้า” ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่นิยมกันในหมู่วัยรุ่น

ในยุคปัจจุบัน เหล้า บุหรี่ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ทั้งที่บ้าน ชุมชน ร้านค้า และงานประเพณีต่างๆ นอกจากนี้ “บุหรี่ไฟฟ้า” ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ถึงแม้จะไม่สามารถจำหน่ายได้ถูกกฎหมาย แต่กลับหาซื้อได้ง่ายและเป็นที่นิยมกันในหมู่วัยรุ่น โรงเรียนชุมชนกุดหมากไฟเห็นปัญหานี้อยู่ใกล้ตัวนักเรียน จึงให้ความสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้นักเรียนยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
นายธงชัย พละสาร ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการต่อต้านภัยยาเสพติดอย่างชัดเจน โดยสนับสนุนการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับโทษและอันตรายของสารเสพติดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า หรือ พอท
สร้างการมีส่วนร่วมช่วยป้องกันยาเสพติดในชุมชน
โรงเรียนชุมชนกุดหมากไฟ ตั้งอยู่ในตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนทั้งสิ้น 226 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
การดื่มเหล้าและเบียร์หลังเลิกงานพบเห็นได้บ่อยและกลายเป็นปกติ เด็กๆ ในชุมชนจึงเติบโตมาท่ามกลางภาพของผู้ใหญ่ที่ดื่มสุราเป็นกิจวัตร จนกระทั่งบางครั้งผู้ปกครองเองก็มองว่าการที่เด็กดื่มเหล้าในงานรื่นเริงเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความตระหนักถึงพิษภัยของเหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติด
“เราไม่ควรทำให้เรื่องการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ ” ครูสาวิตรี ขัดดี กล่าวเมื่อครั้งเล่าถึงปัญหาที่น่าเป็นห่วงของนักเรียนที่อยากให้ทุกคนในชุมชนช่วยกันแก้ปัญหานี้
ปี 2567 โรงเรียนจึงได้ริเริ่มทำโครงการโรงเรียนสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะนักเรียน รวมกับ Childimpact โดยได้ขอความร่วมมือชุมชน เริ่มจากการประชุมร่วมกันระหว่างคณะผู้บริหาร คณะครู และคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน จากนั้นจึงได้ขยายความร่วมมือไปยังร้านค้าในชุมชนกว่า 20 แห่ง โดยจัดทำข้อตกลงและขอความร่วมมือในการติดสติ๊กเกอร์ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
ผลจากความร่วมมือดังกล่าวเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในเวลาเพียง 1 เดือน หลังจากขอความร่วมมือกับร้านค้าและชุมชน โรงเรียนได้ทำการสอบถามกับร้านค้าว่า มีเด็กมาซื้อเหล้าหรือบุหรี่บ้างหรือไม่ ร้านค้าปฏิเสธได้หรือไม่ ผลตอบรับ คือ ทางร้านค้าให้ความร่วมมือและช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับโรงเรียนเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเด็กมาซื้อเหล้าหรือบุหรี่ร้านค้าก็จะถามว่าใครให้มาซื้อ เป็นลูกของใคร และร้านค้ายังบอกว่า ถ้าพ่อให้มาซื้อ ก็ไม่ได้นะต้องให้พ่อมาซื้อเอง เพราะเด็กอายุไม่ถึง จากเหตุการณ์นี้จะเห็นว่า ร้านค้าปฏิเสธการขายเหล้า บุหรี่ให้กับเด็ก และในชุมชนก็ช่วยสอดส่องดูแลด้วย ว่ามีเด็กนั่งดื่ม หรือสูบบุหรี่นอกโรงเรียนบ้างหรือไม่
บุหรี่ไฟฟ้า สิ่งเสพติดยอดฮิตของวัยรุ่น
ถึงอย่างไร การช่วยเหลือภายในชุมชนก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสิ่งเสพติดได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีรูปแบบใหม่ ๆ นั่นก็คือ “บุหรี่ไฟฟ้า”
บุหรี่ไฟฟ้าได้กลายเป็นสิ่งเสพติดที่เด็กเยาวชนให้ความสนใจ เพราะรูปลักษณ์ที่ถูกใจวัยรุ่น มีกลิ่นที่หอมกว่าบุหรี่มวน ประกอบกับความอยากรู้อยากลองตามธรรมชาติของวัยรุ่น และแรงชักชวนจากกลุ่มเพื่อน ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงและสั่งซื้อบุหรี่ไฟฟ้าทำได้ง่ายกว่าที่เคย
สภาพครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเข้าถึงสิ่งเสพติด เนื่องจากนักเรียนจำนวนมากอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ในขณะที่พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัดหรือทำงานในไร่นา ส่งผลให้การดูแลเอาใจใส่อาจไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร นักเรียนบางคนฉวยโอกาสนี้สั่งซื้อบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ โดยให้จัดส่งมาที่โรงเรียน จนกระทั่งครูเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติจากจำนวนพัสดุที่มาส่งที่โรงเรียนบ่อยครั้ง และพบการซุกซ่อนบุหรี่ไฟฟ้าตามจุดต่างๆ เช่น ในกระเป๋านักเรียน ใต้เบาะรถ และตามซอกมุมในห้องน้ำ
หากบุหรี่ไฟฟ้ามาถึงมือเด็กนักเรียนแล้ว ผู้ปกครองหรือครูไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปมากน้อยเพียงใด ทางโรงเรียนจึงต้องตรวจตราและสังเกตพฤติกรรมนักเรียน ว่า เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ และพบว่า นักเรียนสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเวลาหลังเลิกเรียน หรือตอนกลับบ้าน หรือตอนออกมาซ้อมกีฬา อาจจะมีการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ด้วยคุณลักษณะเฉพาะของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวก มีกลิ่นหอมหวานให้เลือกหลากหลาย และไม่ต้องใช้ไฟจุดเหมือนบุหรี่ทั่วไป ประกอบกับความสะดวกในการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นภัยคุกคามที่แฝงตัวอยู่ใกล้ชิดกับเยาวชน ซึ่งทางโรงเรียนเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน
การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด
ครูวนิศรา สงสุกแก ได้บูรณาการในวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาสุขศึกษา เพื่อนักเรียนจะได้เรียนเรื่องโทษและพิษภัยของสารเสพติดหลายประเภท โดยสื่อและกิจกรรมที่ใช้ในห้องเรียน ส่วนหนึ่งนำมาจาก childimpact.co เช่น เกมบิงโกในการเรียนรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า แผนการสอนเกี่ยวกับวิชาสุขศึกษาเกี่ยวกับโทษและพิษภัยของสารเสพติด และวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น
สื่อที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสื่อที่กระตุ้นความสนใจให้กับนักเรียน เพราะสื่อที่นำมาใช้มีการสอดแทรกสาระความรู้เข้าไปด้วย ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงพิษภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่เราใช้สารเสพติดชนิดต่างๆ ผลจากการใช้สื่อในห้องเรียน เด็กนักเรียนชอบและให้ความสนใจอย่างมาก เพราะว่าได้เล่นเกมสนุก ตื่นเต้น นอกจากการใช้สื่อในการเรียนการสอนแล้ว ครูให้นักเรียนทำใบงานเกี่ยวกับยาเสพติด นักเรียนได้วาดรูปและเขียนสรุปสิ่งที่เรียนรู้
การจัดการพื้นที่เพื่อลดการเสพ
เพื่อเป็นการลดโอกาสในการใช้สารเสพติดทุกชนิด โรงเรียนชุมชนกุดหมากไฟ ได้จัดพื้นที่ภายในโรงเรียนให้โล่ง ไม่มีจุดอับลับตา พร้อมทั้งกำหนดข้อตกลงร่วมกันกับบุคลากรของโรงเรียนให้ทุกคนงดสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังได้สร้างเครือข่ายนักเรียนแกนนำที่ช่วยเผยแพร่ความรู้และร่วมเป็นหูเป็นตาในการป้องกันการใช้สารเสพติดภายในโรงเรียน
พลังนักเรียนร่วมด้วยช่วยสอดส่อง
พรสวรรค์ บุญสุวรรณ ประธานนักเรียน ได้รับมอบหมายบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ช่วยครูสอดส่องดูแลน้อง ๆ ว่ามีน้องคนไหนสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ คอยสังเกตสัญญาณที่อาจบ่งชี้ถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เช่น เวลาเข้าห้องน้ำแล้วได้กลิ่นหอมอย่างสตอเบอรี่ ก็จะตั้งข้อสงสัยว่า มีใครสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะขอดูกระเป๋า หากเจอบุหรี่ไฟฟ้าก็จะแจ้งและส่งต่อคุณครู
การให้ความรู้ผ่านเสียงตามสาย
ความรู้ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน ตอนพักกลางวันทางโรงเรียนมีการจัดเสียงตามสาย มีทั้งการเปิดเพลงให้ฟังผ่อนคลาย และมีการจัดเสียงตามสายแทรกความรู้ทางวิชาการ และข่าวสารต่างๆ เมื่อมีโครงการส่งเสริมสุขภาพ จึงแทรกเนื้อหาเรื่องสุขภาพ เรื่องโทษของยาเสพติดเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้เด็กๆ ได้ตระหนักรู้ถึงสุขภาพและโทษของยาเสพติดชนิดต่างๆ
ไอรดา พิลาดี นักเรียนชั้น ม.2 เล่าว่า “เด็กสมัยนี้อยากลอง เช่น บุหรี่ไฟฟ้า มีหลายรส ทำให้เด็กๆ อยากลอง สูบแล้วเท่ แต่จริงๆ แล้ว สูบไปมันทำให้ระบบประสาทเสื่อม แล้วก็ปอดทำให้ปอดไม่ดี”
เห็นได้ว่า มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยครูเผยแพร่ความรู้เรื่องยาเสพติด และนักเรียนอีกกลุ่มกำลังช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้นักเรียนใช้บุหรี่ไฟฟ้า อย่างน้อยในโรงเรียนแห่งนี้ มีการให้ความรู้โทษและพิษภัยยาเสพติด ทำให้มีนักเรียนได้ตระหนักถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติด และกำลังช่วยกันที่จะทำให้มีผู้ใช้สารเสพลดน้อยลง
ความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก
โครงการ D.A.R.E. เป็นโครงการที่สอนเกี่ยวกับวิธีการป้องกัน การต่อต้านความรุนแรงให้เด็กมีภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โครงการ D.A.R.E. ครูตำรวจแดร์ จะลงสอนในโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบ และมีการลงพื้นที่ไปเยี่ยมเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติดหรือความรุนแรงในครอบครัว เพื่อรับทราบปัญหาของเด็กด้วย
ด.ต.ประจักษ์ โมระสาก ครูตำรวจแดร์ เล่าว่า “ปัจจุบันเด็กจะมีความเสี่ยงที่จะไปทดลองเกี่ยวกับบุหรี่ เริ่มตั้งแต่ ป.5 ป.6 ซึ่งปัจจุบันนี้บุหรี่ไฟฟ้ามีบทบาทมาก เป็นค่านิยม คือ เห็นคนนั้นสูบเขาดูเท่ ก็จะชักชวนต่อต่อกันไป”
ครูตำรวจแดร์ จะมาสอนที่โรงเรียนทุกสัปดาห์ เพื่อให้ความรู้กับนักเรียนในเรื่องกฎหมาย โทษของยาเสพติด จะไม่ดุเด็ก แต่จะทำกิจกรรมกับเด็ก มีการเล่นเกมที่สอดแทรกความรู้ โทษของยาเสพติด การดูแลและป้องกันตัวจากยาเสพติด
ความร่วมมือของครูตำรวจแดร์กับโรงเรียน คือ ทางโรงเรียนมีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น กลุ่มเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย และส่งรายชื่อให้ครูตำรวจแดร์ได้ดูแลต่อแต่จะไม่มีเปิดเผยว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยง เด็กทุกคนจะทำกิจกรรมร่วมกัน จะไม่มีการประจานเด็ก ในห้องเรียนของครูตำรวจแดร์ ถึงแม้จะโฟกัสกลุ่มเสี่ยงนั้นเป็นพิเศษ แต่จะไม่มีการชี้ตัวหรือระบุตัวตนของนักเรียน เพราะความมุ่งหวังครูตำรวจแดร์ คือ อยากจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียนให้มากที่สุด ไม่มีความเสี่ยงกับการไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
โรงเรียนมีการติดตามและเฝ้าระวังไปพร้อมๆ กับครูตำรวจแดร์ เป็นการช่วยเหลือกันมาหลายปี ผลที่ได้รับจากความร่วมมือ คือ นักเรียนมีความตระหนักมากขึ้น เปอร์เซ็นต์ที่จะใช้สารเสพติดหรือบุหรี่ไฟฟ้าลดลงมาก ถึงแม้ว่า ในแต่ละรุ่นเด็กจะมีการใช้มากใช้น้อยไม่เท่ากัน เพราะกลุ่มที่ใช้จะเป็นกลุ่มเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ถ้าเขาเลิกหรือลด เขาจะเลิกไปด้วยกันทั้งกลุ่ม นับว่ามีนักเรียนใช้สารเสพติดน้อยลงในแต่ละปี
เมื่อโรงเรียนเล็งเห็นโทษของยาเสพติดและลงมือปกป้องไม่อยากให้นักเรียนอยู่ใกล้กับยาเสพติด โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้และรับรู้เกี่ยวกับยาเสพติด เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน ทำให้นักเรียนมีความตระหนักถึงโทษของยาเสพติดมากขึ้น นักเรียนกลุ่มเสี่ยงก็มีจำนวนลดลง