< กลับหน้าแรก

พลิกโฉมโรงเรียนบ้านโป่งยอ: สร้างสุขภาพกาย-ใจให้เด็กๆ ด้วยกิจกรรมทางกาย


เขียนเมื่อ: 13-02-2025 08:33 โดย ศศิตา ปิติพรเทพิน

โรงเรียนบ้านโป่งยอ จ.ลพบุรี เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมาก มีนักเรียนเพียง 49 คน ตั้งอยู่ในชุมชนที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตร เด็กจำนวนมากอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายเนื่องจากพ่อแม่ และประสบปัญหาติดหน้าจอ สมรรถภาพทางกายต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งโรงเรียน จากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้อำนวยการโรงเรียน นางหทัยชนก ราชบรรเทา ผอ.ใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งในปี 2567 และคณะครูได้ริเริ่มโครงการ “ส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อพัฒนาสมรรถภาพนักเรียน” ซึ่งมีเป้าหมายให้เด็กๆ เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น มีสุขภาพที่ดี และส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ

พลิกโฉมโรงเรียนบ้านโป่งยอ: สร้างสุขภาพกาย-ใจให้เด็กๆ ด้วยกิจกรรมทางกาย image

ทำไมถึงต้องเป็นกิจกรรมทางกาย?

ผู้อำนวยการได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง เมื่อได้ศึกษาและค้นคว้าวิธีวัดสมรรถภาพนักเรียนจากแหล่งข้อมูลของมหาวิทยาลัยจุฬาลงการณ์ และมหาวิทยาลัยมหิดล และเมื่อลองวัดจริงพบว่า เด็กส่วนใหญ่มีสมรรถภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรผ่านได้ตั้งแต่ระดับอนุบาล นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ

นางหทัยชนก ราชบรรเทา (ผอ.กุ้ง) ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าว “เลือกเรื่องนี้เพราะสังเกตเห็นว่า เวลาซ้อมเดินพาเหรด เด็กๆ ซอยเท้าไม่ตรงจังหวะเลยสักคนเดียว และเมื่อตรวจสมรรถภาพทางกาย ก็พบว่าต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งโรงเรียน ทั้งความอ่อนตัว ความแข็งแรง ไม่มีเลย แถมไม่มีผู้นำเล่นกีฬาหรือกิจกรรมในหมู่บ้าน เวลาว่างเด็กนั่งคุย นั่งเล่นมือถือ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ช่วงโควิดที่เรียนออนไลน์ และมาโรงเรียนเพื่อใช้ไวไฟฟรี นอกจากนี้ เด็กที่นี่หน้าเฉย ไม่ยิ้ม ไม่รู้ว่ามีความสุขไหม อยากรู้ว่าเพราะอะไร มองว่าน่าจะไม่ได้รับการกระตุ้นเรื่องที่ทำให้มีความสุข หรือสนุก เพราะครูมีน้อย เด็กไม่มีเวลาเล่น ต้องช่วยผู้ปกครองเก็บผลผลิตในไร่ ล้างจาน เก็บกวาด เรียน กลับบ้าน จึงตัดสินใจว่า ถ้าดำเนินการกระตุ้นกิจกรรมทางกายเด็กปฐมวัย ก็จะกระตุ้นสมองด้วย ทำอย่างไรก็ได้ให้ขยับทางกายให้มากขึ้น อะไรก็ได้นอกจากมือถือ”

เดิมทีก่อนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะ การทำกิจกรรมทางกายไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากขาดแคลนทั้งงบประมาณและบุคลากร อีกทั้งพื้นที่โดยรอบไม่มีโรงงานหรือผู้ประกอบการที่สามารถให้การสนับสนุนเฉกเช่นโรงเรียนในเมือง หรืออยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม โรงเรียนมีเพียงความช่วยเหลือจากพระในชุมชน 1 รูป ที่ช่วยตัดหญ้าสนามฟุตบอล หางบประมาณซ่อมแซมโรงเรียนให้

🏃เมื่อได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะของ Childimpact และด้วยพื้นฐานของ ผอ.กุ้ง ที่เชี่ยวชาญด้านปฐมวัยและเข้าใจแนวคิด การเล่นอิสระรูปแบบ 4PCs โรงเรียนจึงเดินหน้าปรับปรุงทั้งสถานที่ การพัฒนาครู และกิจกรรม โดยอาศัยความรู้ที่มีและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก Childimpact

แม้ครูในโรงเรียนจะเป็นครูใหม่ทั้งหมด แต่เมื่อมี ผอ.เป็นผู้นำ ก็พร้อมเรียนรู้และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่นและเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โรงเรียนเป็นที่รู้จักและได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันโรงเรียนได้รับนักการภารโรงเข้ามาช่วยดูแล พร้อมกับได้รับลูกฟุตบอลและอุปกรณ์กีฬาจาก อบต. ทำให้สามารถสร้างพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น

สภาพแวดล้อม

การดำเนินการในระยะเวลา 6 เดือน

  • ปรับแนวคิดการสอนและพัฒนาครู ปูพื้นฐาน Active Learning ให้ครูเข้าใจ ผู้อำนวยการเข้าชมการสอนจริงและนิเทศภายในอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางกัลยาณมิตร เน้น Mindset การศึกษาที่ทันสมัย ให้ครูซึ่งเดิมเต้นแอโรบิคไม่เป็นได้ฝึก และฝึกนักเรียนต่อ มีการส่งเด็กออกไปแข่งขันแอโรบิคครั้งแรกและถือเป็นก้าวสำคัญ ซึ่งแม้จะท้าทายมาก แต่ทั้งครูและเด็กๆ พยายามฝึกจนทำได้ ส่วนเด็กที่ยังไม่ได้ออกไปแข่งขัน เมื่อเห็นเพื่อนๆ ได้มีโอกาสไป ก็เกิดแรงจูงใจ อยากพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งต่อไป

  • ปรับปรุงห้องเรียนและกิจกรรม ครูอนุบาลไม่มีพื้นฐานด้านอนุบาล จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก มูลนิธิยุวพัฒนา Life Thailand มาโค้ชเป็นเวลา 10 วันเต็ม ปรับพื้นที่การเรียนรู้และนำ Active Learning และ กิจกรรม Brain-Based Learning (BBL) มาประยุกต์ใช้ ให้น้องอนุบาลตัวเล็กเป็นผู้นำการยืดเหยียด พี่ๆ ที่เห็นเกิดแรงบันดาลใจ ไม่อยากแพ้น้อง ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากเด็กทุกวัย นอกจากนี้ โรงเรียนยังใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook และ TikTok เพื่อเผยแพร่กิจกรรม ส่งผลให้ผู้ปกครองให้ความสนใจและให้การสนับสนุนมากขึ้นเพิ่มกิจกรรมร้องเล่น เต้น เคลื่อนไหว และจังหวะ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

  • ปรับปรุงสภาพแวดล้อมนอกห้องเรียน ทาสีเพิ่ม เปลี่ยนบรรยากาศให้สดใส จัดซื้อลำโพงเคลื่อนที่เพื่อใช้เปิดเพลงกระตุ้นการเคลื่อนไหว เริ่มกิจกรรม เต้นแอโรบิคและยืดเหยียดตอนเช้า ทุกวันทั่วทั้งโรงเรียน ปรับปรุงสนาม BBL และสร้างพื้นที่กิจกรรมให้เหมาะกับเด็ก เป็นพื้นที่ที่ สนุกและผ่านการออกแบบมาอย่างรอบคอบ เดิมโรงเรียนมีพื้นที่สำหรับกิจกรรม ก-ข แต่เด็กไม่รู้วิธีเล่น ครูอนุบาลจึงช่วยกันออกแบบรูปแบบกิจกรรมใหม่ โดยใช้พื้นเป็นจุดนำทาง ให้เด็กสามารถเดินเข้าไปเล่นได้เอง กระบวนการนี้ผ่านการวางแผนให้ทั้งมีประโยชน์และสนุก ทำให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น

  • สร้างสื่อการเรียนรู้และเชื่อมโยงกับบทเรียน จัดทำสื่อการเรียนรู้ และติดตั้งป้ายสื่อความรู้ในโรงเรียน ติดตั้งป้ายในโรงอาหาร และเลือกสื่อจาก Childimpact เพื่อให้เด็กเรียนรู้ ให้ครูออกแบบและจัดทำสื่อเพิ่ม เพื่อเชื่อมโยงแนวคิด BBL และ Active Learning กับบทเรียนที่เหมาะสม

สภาพแวดล้อม2

6 เดือนเปลี่ยนได้มากกว่าที่ใครคิด

คำบอกเล่าของครูพละที่มาใหม่

  • “ตอนแรกมาสอนพละ อึ้งมาก เด็กกระโดดตบไม่เป็น ป.6 ก็ยังไม่ได้สักคนเดียว แถมช่วงต้น เวลาทำแปลงผัก ทำไม้กวาด แรกๆ 5 นาที บ่นเหนื่อย ร้อน ไม่เอา หิวน้ำ ตอนนี้เด็กสามารถทำได้จนเสร็จ ควบคุมตัวเองได้ มีความอดทนมากขึ้น เรามีความฝันเล็กๆ คือ ขอให้เขาแข็งแรง จะได้ไปต่อสู้ข้างนอกได้ เมื่อออกกำลังกายพื้นฐานเป็น ร่างกายแข็งแรง จิตใจก็จะอดทนขึ้น จะได้เติบโตต่อได้ งานอะไรก็ต้องอดทน ต้องมีแรง ถึงจะมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้”

  • “เราดูรายละเอียดจากการทดสอบสมรรถภาพทางกาย เห็นใครมีปัญหาบ้าง เราสอนหลายวิชา ก็ปรับเข้าไปในเนื้อหาวิชาให้มีกิจกรรมทางกาย ท่องสูตรคูณก็ให้ต่อยมวยไปด้วย มีโครงการ พฤหัสยิ้ม ให้เด็กได้มาโชว์เดือนละครั้ง เด็กผู้ชายก็จะฮึกเหิม เด็กรอวันที่จะได้โชว์ ตอนนี้จากเจ็ดคน กระโดดตบได้ 5 คน ก็ยังดีขึ้น”

สิ่งที่ไม่คาดคิดคือ ยอดการมาโรงเรียนของเด็กปฐมวัยสูงขึ้น จากเดิมที่มีเด็กขาดเรียนแทบทุกวัน ซึ่งเด็กที่เดิมไม่อยากมา ตอนนี้มาทุกวันเพื่อเต้นแอโรบิค จากเดิมเต้นอาทิตย์ละวัน โรงเรียนจึงต้องให้เต้นทุกวัน ปรับโครงสร้างตอนเช้าก่อนเข้าเรียนให้ทำทุกอย่างได้ครบ เปลี่ยนระบบและระยะเวลาให้สอดคล้องกัน ตั้งแต่เคารพธงชาติ ออกกำลังกาย การเดินไปห้องเรียน และพูดคุยกับเด็ก รวมถึงจัดเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้เข้าห้องเรียนได้ทัน

🏃พัฒนาการอีกด้านที่เห็นชัดคือ ตอนนี้เด็กเริ่มย่ำเท้าเป็นจังหวะได้ เด็กมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น และเริ่มสนุกกับกิจกรรมต่างๆ มากกว่าเดิม เด็กสามารถนำเต้นแอโรบิคได้เอง ทำให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตอนเย็นมีเด็กในชุมชนเข้ามาเล่นฟุตบอลมากขึ้น บรรยากาศในโรงเรียนเริ่มคึกคัก เป็นจุดหนึ่งสู่ภาพฝันของผู้บริหารและคณะครู

ผู้อำนวยการกล่าวว่า ... “ภาพฝันคือความสุขที่เด็กยิ้มได้และมีร่างกายที่แข็งแรง เห็นลู่ทางในการออกสู่โลกกว้าง เห็นว่าข้างนอกมีอาชีพที่ทำได้ และมีอย่างอื่นที่ทำได้ มีมายเซ็ทที่กว้างขึ้น”


หมวดหมู่

  • ภาวะโภชนาการ

ผู้ใช้ความรู้

  • ผู้บริหารสถานศึกษา
  • ครู

กลุ่มเป้าหมาย

  • ปฐมวัย
  • ประถมศึกษาตอนต้น
  • ประถมศึกษาตอนปลาย