< กลับหน้าแรก

เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี


เขียนเมื่อ: 14-05-2024 12:14 โดย ศศิตา ปิติพรเทพิน

“เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก แต่โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานีเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม โดยมีจุดเริ่มต้นจากโรงเรียน ส่งต่อไปที่บ้าน และดึงความมีส่วนร่วมของวัด ชุมชน หน่วยงานของรัฐและภาคการเมืองเข้ามาช่วยดูแลเด็กในชุมชน

เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี image เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี image เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี image เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี image เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี image เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี image เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี image เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลเด็กอย่างองค์รวม : โรงเรียนบ้านน้ำรอบ จังหวัดอุทัยธานี image

จุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาวะนักเรียนของโรงเรียนบ้านน้ำรอบ เกิดมาจากการมองเห็นปัญหาว่าเด็กบางคนอ้วนเกินไป เด็กบางคนผอมเกินไป เด็กบางคนขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อันเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูเด็กจากครอบครัว ด้วยบริบทของครอบครัวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น เด็กของโรงเรียนบ้านน้ำรอบส่วนใหญ่จึงอยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายายที่ต้องเร่งรีบไปออกไปทำไร่ทำนา อาหารในตอนเช้าจึงเป็นอาหารแบบง่าย ๆ อย่างข้าวเหนียวหมูปิ้ง ของทอด และเด็กบางคนไม่ได้กินข้าวเช้า เมื่อเด็กกลับไปบ้านในตอนเย็นก็จะเลือกกินน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนม จนเกินพอดี ทำให้นอกจากจะเกิดปัญหาทุพโภชนาการแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาฟันผุตามมาอีกด้วย

    นางวรานันท์ แก่นแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำรอบจึงแสวงหาเครือข่ายในการช่วยดูแลสุขภาวะของเด็กนักเรียน การแก้ไขปัญหาเริ่มจากได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมเรื่องสุขภาพของนักเรียนกับทีมงาน child impact ทำให้ได้แนวคิด วิธีการ ที่ช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนมีแนวทางการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้เรียน เมื่อได้แนวทางแล้ว กระบวนการที่สำคัญคือ การประชุมคณะครูในโรงเรียน เพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน “กระบวนการที่ทำให้เป้าหมายประสบความสำเร็จได้ คือเราต้องมีการพูดคุยกันในโรงเรียน มีการวางแผนร่วมกัน บุคคลที่มีความสำคัญคือครูในโรงเรียน” เมื่อภายในโรงเรียนเห็นเป้าหมายและแนวทางร่วมกันแล้ว ทางโรงเรียนจึงชักชวนผู้ที่จะทำให้แนวทางนั้นประสบความสำเร็จ เช่น คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รพ.สต.น้ำรอบ ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และภาคการเมือง

ทางโรงเรียนได้มีนโยบายการดูแลสุขภาวะทางกายของนักเรียน โดยเน้นการทำกิจกรรมให้เด็กได้เคลื่อนไหว และออกกำลังกาย เริ่มจากช่วงเช้า เด็ก ๆ จะวิ่งรอบสนามหลังกิจกรรมหน้าเสาธง การได้วิ่งไปพร้อม ๆ กับเพื่อนจะทำให้เด็กมีความสุข สนุกสนาน และได้แข่งขันกับเพื่อนคนอื่น การวิ่งรอบสนาม เป็นกิจกรรมตามความสมัครใจ คุณครูจะคอยเชียร์ให้กำลังใจว่า วิ่งไหวไหม เด็กอาจจะเริ่มจากเดินก่อน จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นวิ่งจาก 1 รอบเป็น 2 รอบ สำหรับนักเรียนที่ไม่สบาย หรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพ คุณครูจะให้ดูเพื่อน ๆ ที่ข้างสนาม แต่เมื่อเด็กเห็นเพื่อน ๆ วิ่งก็อยากวิ่งด้วย จนมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ครูทิพวัลย์ พูลสาริกิจ ครูอนามัยโรงเรียนเล่าว่า “เดิมที การวิ่งในสนามของโรงเรียนยังไม่สะดวก เพราะทางเดินไม่ได้เชื่อมต่อกัน ในช่วงฤดูฝน ดินจะแฉะ ทางโรงเรียนจึงได้จัดหางบประมาณ และขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง อบต. ศิษย์เก่า จัดทำทางเดินให้ต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนสามารถวิ่งได้อย่างเต็มที่”

หลังกิจกรรมวิ่งรอบสนามแล้ว ก่อนเริ่มเรียน คุณครูจะมีกิจกรรมเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับการออกแบบของครูผู้สอน บางห้องเรียนอาจจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมสมาธิ เช่น การทำสมาธิเคลื่อนไหวประกอบเพลงดั่งดอกไม้บาน การนั่งสมาธิ บางห้องเป็นกิจกรรมกระตุ้นความตื่นตัว เช่น การเต้นประกอบเพลง การเล่นเกม และในช่วงก่อนเลิกเรียน ทางโรงเรียนจะปล่อยให้นักเรียนเล่นอิสระ หรืออาจมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ตาราง 9 ช่อง การเต้นแอโรบิกทุกวันพุธ เป็นต้น นอกจากการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแล้ว ทางโรงเรียนยังดูแลเรื่องโภชนาการควบคู่กันไปด้วย

ครูญาณิศา สงวนวงศ์ ครูผู้ช่วยในการดูแลอาหารกลางวันสำหรับเด็กเล่าว่า “ทางโรงเรียนได้นำความรู้จาก child impact ที่มีการอบรมความรู้และเทคนิคในการจัดโภชนาการ เช่น ถ้าเด็กไม่ชอบกินผัก เราจะมีการแซมผักไปในเมนูอาหารอย่างไรให้เด็กกินผัก อย่างเช่น น้องม่อน นักเรียนชั้นอนุบาล 3 ที่ย้ายมาจากกรุงเทพ ตอนแรกน้องม่อนจะไม่ค่อยกินอาหารกลางวันที่โรงเรียน ครูก็พยายามหาผักที่มีสีสันน่ากิน ก็ค่อย ๆ ให้น้องปรับตัวโดยที่ไม่บังคับ จนตอนนี้น้องม่อนกินอาหารกลางวันของโรงเรียนมากขึ้น”

ผอ. วรานันท์ แก่นแก้ว กล่าวถึงผลจากการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาวะทางกายว่า “ผลจากการวิ่งทำให้เด็กมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยง่าย ยกตัวอย่างน้องอาตง ทีแรกปู่ของน้องอาตงไม่ยอมให้วิ่ง เพราะกลัวอาตงหกล้มและเจ็บป่วย เมื่ออาตงเห็นเพื่อน ๆ วิ่งก็อยากวิ่งบ้าง แม้จะมีหกล้มในช่วงแรก แต่อาตงไม่ยอมแพ้ จนทำให้ตอนนี้อาตงสามารถวิ่งกับเพื่อน ๆ ได้ และเมื่อกลับไปบ้านยังออกกำลังกายที่บ้านด้วย อาตงน้ำหนักตัวลดลง และแข็งแรงขึ้น คุณปู่ก็มีความสุข”

การส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ทางโรงเรียนพบปัญหานักเรียนปวดฟันจนเรียนไม่รู้เรื่อง คุณครูจึงได้ประสานกับทาง รพ.สต.น้ำรอบ แต่ทาง รพ.สต.น้ำรอบ ไม่มีทันตแพทย์ประจำจึงได้ประสาน รพ.สต. ใกล้เคียงเข้ามาตรวจสุขภาพช่องปากเด็ก จากการตรวจพบว่า เด็กมีฟันน้ำนมและฟันแท้ผุจำนวนหนึ่ง บางคนต้องขูดหินปูน เมื่อได้ผลตรวจแล้ว ทางโรงเรียนได้แจ้งผู้ปกครองให้ทราบ พร้อมกับประสาน โรงพยาบาลลานสักเพื่อส่งต่อให้เด็กได้รับการรักษาต่อเนื่อง ทางโรงเรียนยังได้จัดกิจกรรมประกวดฟันสวย เพื่อส่งเสริมให้เด็กอยากมีสุขภาพฟันที่ดี และเพื่อสร้างลักษณะนิสัยในการรักษาดูแลสุขภาพช่องปาก โรงเรียนจึงมีกิจกรรมแปรงฟันหลังกินอาหารกลางวันทุกวัน กิจกรรมนี้จะรับผิดชอบโดยพี่ ป.6 เมื่อกินเสร็จแล้ว นักเรียนที่รับผิดชอบจะมาเปิดเพลงแปรงฟันเป็นสัญญาณให้ทุกคนรู้ว่า “ถึงเวลาแปรงฟันแล้วนะ” นักเรียนที่เหลือจะหยิบแก้ว แปรงสีฟันของตัวเองมาที่ก๊อกน้ำใกล้ห้องเรียน และลงมือแปรงฟันไปตามบทเพลง เมื่อทุกคนแปรงฟันเสร็จเรียบร้อยจะมานั่งเป็นแถวตามห้องเรียน ก่อนจะเข้าห้องเรียนในคาบบ่ายต่อไป

    ในช่วงแรก อ่างสำหรับแปรงฟันไม่พอ ทางโรงเรียนก็พยายามหาวิธีที่จะปรับปรุงและสร้างเพิ่มให้เพียงพอ ส่วนอุปกรณ์แปรงฟัน เราได้เขียนโครงการขอรับการสนับสนุนจาก สสส. ปัจจุบัน นักเรียนมีที่ล้างหน้าแปรงฟันได้สะดวกมากขึ้น ส่วนนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพฟัน ทางโรงเรียนได้ส่งต่อไปอุดฟัน ถอนฟัน รักษารากฟัน

นอกจากกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะของนักเรียนแล้ว ทางโรงเรียนยังได้จัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้มีความปลอดโปร่ง ร่มรื่น สะอาด โดยเฉพาะห้องน้ำ ทางโรงเรียนได้ปรับปรุงห้องน้ำให้เด็กเข้าถึงห้องน้ำที่สะอาด ไม่แบ่งแยกห้องน้ำครูและนักเรียน เพื่อให้เด็กมีความสุขในการมาโรงเรียน “อยากให้เด็ก ๆ ทุกคนในโรงเรียนบ้านน้ำรอบมีความสุขกายสุขใจ และอยากที่จะมาโรงเรียนทุกวัน”

การส่งเสริมสุขภาวะของเด็ก ๆ นั้น ถ้าลำพังเพียงแค่โรงเรียน คงไม่สามารถเห็นความสำเร็จ ผู้ปกครองเองก็มีส่วนช่วยดูแลเรื่องอาหารการกิน การแปรงฟัน และการออกกำลังกายตอนอยู่ที่บ้านด้วย เหมือนกับผู้ปกครองของน้องอาตงที่ปรับเปลี่ยนอาหารเวลาที่น้องอาตงกลับไปบ้าน “ปกติน้องอาตงจะชอบกินพวกของทอด ไส้กรอก ขนม เดี๋ยวนี้ ปู่กับย่าก็เปลี่ยนอาหารเป็นพวกต้มบ้าง ผัดผักบ้าง ไข่พะโล้บ้าง เพื่อให้เขาได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน”

อีกปัจจัยที่สำคัญคือ คณะกรรมการสถานศึกษาและ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำรอบ ได้เชิญชวนให้นางสาวศรัญญา โต๋วสัจจา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี ที่ดูแลพื้นที่ตำบลน้ำรอบ มาเป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาฯ การดึงการมีส่วนร่วมจากภาคการเมืองทำให้ได้รับความร่วมมือจากผู้นำในชุมชน และทำให้เห็นต้นตอของปัญหาสุขภาวะของเด็ก ๆ ซึ่งอาจจะพัฒนาเป็นนโยบายระดับท้องถิ่นได้ในอนาคต

“ถ้าหน่วยงานท้องถิ่นได้มีโอกาสเข้ามาดูให้เห็นกับตา มันเกิดผลดีแน่นอน ทั้งเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากทางภาครัฐในส่วนต่าง ๆ”

ผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้สุขภาพทางกาย และสุขภาพช่องปากของเด็กนักเรียนบ้านน้ำรอบดีขึ้น ทำให้โรงเรียนได้รับรางวัล “โรงเรียนต้นแบบนักเรียนไทยสุขภาพดี รุ่นที่ 7 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับประเทศ” จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รางวัลนี้เป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเป็นผู้มีสุขภาพดีครอบคลุมทุกด้าน และ “รางวัล อย.น้อย Plus ประจำปี 2566” จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รางวัลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและทุ่มเท “สิ่งที่เป็นรางวัลที่แท้จริงสำหรับครู คือ การได้เห็นเด็กมีความสุข อยากมาโรงเรียนทุกวัน มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข”



แคมเปญ

  • สามเหลี่ยมสมดุล

หมวดหมู่

  • ภาวะโภชนาการ
  • กิจกรรมทางกาย
  • สุขอนามัยพื้นฐาน

ผู้ใช้ความรู้

  • ผู้บริหารสถานศึกษา
  • ครู

กลุ่มเป้าหมาย

  • ปฐมวัย
  • ประถมศึกษาตอนต้น
  • ประถมศึกษาตอนปลาย