< กลับหน้าแรก

“เพศวิถีศึกษา” ครูเข้าใจนักเรียนปลอดภัย ได้ความรู้ ที่โรงเรียนคำยางพิทยา อำเภอวังสำมหมอ จังหวัดอุดรธานี


เขียนเมื่อ: 18-01-2022 13:04 โดย ศศิตา ปิติพรเทพิน

“ผมคิดว่าเพศวิถีศึกษาทำให้เราซอฟต์ลง” ครูสถาปนิกบอกว่าการได้เข้าใจเรื่องเพศว่าไม่ได้เป็นแค่เรื่องพฤติกรรมของบุคคลเพียงอย่างเดียว วัยรุ่นไม่ได้ต้องการสร้างปัญหาแต่ปัญหาเชื่อมโยงกับบริบทแวดล้อมและเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง พวกเขาอาจตัดสินใจผิดพลาดถ้าขาดข้อมูลอย่างเพียงพอ ไม่เคยถูกฝึกให้มีทักษะและความรู้เท่าทัน ถ้ามองแบบนี้วิธีที่ครูจะดูแลและจัดการปัญหาก็จะเปลี่ยนไปคือ สร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพส่วนนักเรียนที่พลั้งพลาดก็มีโอกาสเรียนต่อ

“เพศวิถีศึกษา” ครูเข้าใจนักเรียนปลอดภัย ได้ความรู้ ที่โรงเรียนคำยางพิทยา อำเภอวังสำมหมอ จังหวัดอุดรธานี image

สถาปนิก วิไลกุลเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนคำยางพิทยา อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ด้วยอีกบทบาทในการเป็นครูงานบริหารกิจการนักเรียน เขาจึงเป็นผู้ที่ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนซึ่งประสบปัญหา สิ่งที่เขาบอกกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งขาดเรียนไปหลายวัน รวมทั้งยายของนักเรียนที่กำลังโศกเศร้าเสียใจและโกรธเคืองหลานสาวเป็นที่สุด

ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 โรงเรียนจะต้องดูแลให้นักเรียนที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ให้ได้เรียนต่อด้วยวิธีการที่เหมาะสมประกอบกับการสื่อสารเสริมสร้างกำลังใจวิกฤตของครอบครัวจึงผ่านพ้นไปได้ นักเรียนไม่ต้องหมดอนาคตจากความพลั้งพลาดที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนบอกผู้ปกครองว่าลูกหลานของคุณทำไม่ดีแบบนั้นแบบนี้ หรือปล่อยไปเลย แต่ตอนเราไปบอกให้เขารู้ถึงสิทธิและโอกาส ซึ่งเขาไม่เคยรู้มาก่อนเพราะเป็นเรื่องใหม่ ทั้งยายและหลานก็ดีใจร้องห่มร้องไห้กันใหญ่”

ในมุมมองของครูสถาปนิก กฎหมายฉบับนี้สอดรับกับยุคสมัยที่สังคมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิสำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ แล้วยังล้อรับกับจรรยาบรรณครูที่อยากให้ลูกศิษย์ได้รับการศึกษาจนถึงที่ แต่หากขาดสุดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ประกอบกับทัศนคติแบบเดิมของสังคมก็ยากที่ครูและโรงเรียนจะหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ สุดท้ายนักเรียนที่เผชิญปัญหาจำต้องพ้นจากรั้วโรงเรียนไปอย่างน่าเสียดาย

เพศวิถีศึกษาบทเรียนครูสู่ชั้นเรียน

ครูสถาปนิก วิไลกุล ย้ายตัวเองจากโรงเรียนเอกชนในเมืองมาสอนที่โรงเรียนมัธยมแห่งนี้เมื่อสองปีที่แล้ว โรงเรียนคำยางพิทยามีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประมาณ 270 คน นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวทที่มีรายได้จากการเพาะปลูกพืชไร่ตามฤดูกาล อย่างอ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แต่เมื่อรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่ายพ่อแม่ซึ่งอยู่ในวัยรุ่น จึงต้องมุ่งหน้าเข้าเมืองเพื่อเป็นแรงงานรับจ้างางาน เด็กที่เข้าเรียนที่นี่ จำนวนเกินครึ่งอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย

ปีที่แล้วครูสถาปนิกเป็นหนึ่งในสองของครูโรงเรียนคำยางพิทยาที่ผู้บริหารมอบหมายให้เข้าร่วม โครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic Learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูสอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแพธทูเฮลท์กับสำนักมาตรฐาน และวิชาการศึกษา และศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

ความคิดแรกเมื่อรับรู้ถึงภาระครั้งนี้คือ “เพศวิถีศึกษาไม่น่าจะเกี่ยวกับเรา” เพราะตอนนั้นสถาปนิกเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และแอบคิดว่างานที่รับผิดชอบอยู่ก็เยอะจนเวลาแทบจะไม่พอแล้ว แต่เมื่อได้รับคำสั่งก็ต้องทำตามหน้าที่คิดปลอบใจตัวเองว่าโดยหามุมลองดูก็ได้ เผื่อจะมีประโยชน์กับเด็ก ๆ

“ด้านหนึ่งก็มองว่าเรื่องเพศกับนักเรียนเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันทั้งเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์และความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเปิดกว้างของสังคมที่ผ่านมา ครูมก็ไม่มีวิธีการที่จะดูแลในเรื่องเหล่านี้” เมื่อลงทะเบียนเรียนผ่านโปรแกรมออนไลน์ ประกอบกับการร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีทีมโค้ชจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 20 (สพม.20) รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิแพธทูเฮลท์คอย ติดตามให้คำแนะนครูสถาปนิกค่อย ๆ ใช้เวลาทำความเข้าใจหลักสูตรออนไลน์ สำหรับครูสอนเพศวิถีศึกษาที่เรียงลำดับรวม 8 โมดูล

1) หลักสูตรเพศวิถีศึกษา

2) การมองเรื่องเพศรอบด้าน

3) สังคม วัฒนธรรม และเพศวิถี

4) ครูกับการสื่อสารเรื่องเพศ

5) การจัดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

6) ห้องเรียนเพศวิถีที่นักเรียนมีส่วนร่วม

7) ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน/การช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล

8) โรงเรียนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ

หลักสูตรสำหรับครูทำให้สถาปนิกได้เข้าใจถึงสาระที่นักเรียนต้องเรียนรู้เมื่อพูดถึง “เพศวิถีศึกษา” ว่าไม่ใช่ความเข้าใจแค่เรื่อง “เพศสัมพันธ์” แต่ประกอบด้วย 6 มิติสำคัญประกอบด้วย

  1. พัฒนาการของมนุษย์

  2. สัมพันธภาพ

  3. ทักษะส่วนบุคคล

  4. พฤติกรรมทางเพศ

  5. สุขภาพทางเพศ

  6. สังคมและวัฒนธรรม

“ดีกว่าที่คิด”

คือวลีที่ครูสถาปนิกพูดถึงหลักสูตรออนไลน์สำหรับครูเพศวิถีศึกษา ถ้าขยายความเพิ่มขึ้นอีกนิดครูสถาปนิกบอกว่าทั้ง 6 มิติของหลักสูตรเพศวิถีศึกษา สามารถนำมาใช้จัดการเรียนการสอนให้เป็นประโยชน์กับนักเรียนได้จริง โดยเด็กแต่ละช่วงวัยต้องการเน้นย้ำเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันออกไป ครูสถาปนิกสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจึงนำบทเรียนที่ประทับใจจาก “ครูพิมพ์ใจ” ซึ่งเป็นผู้เดินเรื่องในหลักสูตรออนไลน์เพศวิถีศึกษา มาจัดการเรียนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่รู้ 4 ได้เรียนรู้ นั่นก็คือการให้นักเรียนช่วยกันหาอุปกรณ์มาทำเป็นชุดคลุมท้องเพื่อสวมใส่จำลองสถานการณ์ว่ากำลังตั้งท้องต้องแบกท้องใหญ่อุ้ยอ้ายระหว่างอยู่ที่โรงเรียน แต่เนื่องจากประดิษฐ์อุปกรณ์ออกมาได้จำนวนจำกัด เลยใช้วิธีสลับสวมชุดสมมติว่าท้องกันคนละครึ่งวันแม้จะทั้งร้อนทั้งหนักและรู้สึกหงุดหงิดแต่ทุกคนก็อดทน สวมชุดหนัก ๆ น่ารำคาญตามที่ได้ตกลงกันไว้ จากนั้นกลับมาพูดคุยในชั้นเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผ่านมาเทคนิคสำคัญคือ ครูเป็นคนช่วยตั้งคำถามชวนให้นักเรียนได้คิดและแสดงความเห็นในหลากหลายแง่มุมโดยไม่ตัดสินว่าคำตอบหรือมุมมองของเด็ก ๆ ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี แต่กระจายการพูดคุยอย่างทั่วถึง ซึ่งนักเรียนแต่ละคนมีความคิดเหมือนและแตกต่างกันออกไปครูอาจช่วยเน้นย้ำหรือเพิ่มเติมข้อมูลในจุดที่เป็นประโยชน์ ผลตอบรับจากการทดลองใช้กิจกรรมเรียนรู้ครั้งนี้ถือว่าเกินความคาดหมายอย่างมากสำหรับครูสถาปนิก

“ทุกคนให้ความสนใจ แล้วก็พูดคุยแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กิจกรรมนี้เป็นบทเรียนที่ชวนให้นักเรียนคิดถึงสถานการณ์ท้องในวัยเรียนว่าถ้าเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เมื่อมาพูดคุยกันพบว่าทุกคนได้สัมผัสถึงความยากลำบาก และยังถูกเพื่อนทั้งโรงเรียนจ้องมอง ซึ่งก็ไม่มีใครรู้สึกดี”

ครูสถาปนิกพบว่า การเรียนรู้ผ่านการลงมือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกลายเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ รู้สึกสนุกและประทับใจเขาค่อนข้างเชื่อมั่นว่าประสบการณ์การเรียนรู้เช่นนี้เด็กจะสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันต่างจากความรู้ด้านวิชาการตรงที่เพศวิถีศึกษามีมิติของการเป็นทักษะส่วนบุคคล ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตของทุกคนอีกด้วย “ดีที่เห็นเด็กเรียนด้วยความสนุกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนทุกคนบอกสนุกครับ สนุกค่ะ อยากให้มีแบบนี้อีกแต่ความสนุกไม่สำคัญเท่ากับการที่เขำจะนำความรู้ความเข้าใจเหล่ำนี้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง เด็กมีแฟนถึงตอนที่จะมีอะไรกันแล้วฉุกคิดถึงสิ่งที่ได้พูดคุยกันในชั้นเรียนวันนั้นขึ้นมาแล้วทำให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่จะทำให้ตัวเองรอดปลอดภัยในสถานการณ์นั้นให้ได้เราในฐานะครูก็คงจะดีใจมาก”

ครูสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งล่าสุดรับผิดชอบชั้นเรียนสุขศึกษา พร้อมไปกับงานฝ่ายปกครองบอกว่าการได้ร่วมอบรมในหลักสูตรเพศวิถีศึกษาออนไลน์ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับเขา เนื่องจากประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active learning ที่ได้นำมาทดลองใช้เขาตั้งใจว่าหลังจากนี้จะต้องทำให้ ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการเตรียมแผนการสอนและคิดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

“ที่ผ่านมาก็สอนแบบโบราณ เปิดสไลด์ แจกชีท แบ่งกลุ่มทำงาน มันก็พอไปได้ แต่พอมาทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ เห็นเลยว่ามันได้ผลมาก เราอธิบายไปเด็กก็จำได้แค่นิดเดียว แต่พอได้ลงมือทำได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกันเขาประทับใจได้คิด รู้ได้สึกกับเรื่องราวจริง ๆ การเรียนรู้มันลึกเข้าไปในใจและ น่าจะอยู่ในความทรงจำของเขาด้วย” ครูสถาปนิกบอกว่าต่อแต่นี้เขาคงต้องให้เวลาเพิ่มขึ้นกับการเตรียมแผนการสอน และเชื่อมั่นว่าวิธีการเช่นนี้สามารถาไปรับใช้กับทุกวิชาเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่แท้จริงให้กับนักเรียนได้อย่างแน่นอน

จากจุดเริ่มต้นของครูสองคนที่เข้าร่วมโครงการเรียนออนไลน์สำหรับครูเพศวิถีศึกษาและนำประสบการณ์ดี ๆ มาสื่อสาร ประกอบการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียนคำยางพิทยาที่เห็นถึงประโยชน์ ของความเข้าใจเรื่องเพศวิถีศึกษาที่ครูสามารถนำไปใช้ในการดูแลนักเรียนได้เป็นอย่างดี การขยายผลจึงนำไปสู่ครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียนได้ร่วมเรียนรู้ผ่านหลักสูตรออนไลน์เพิ่มขึ้นโดยไม่จำกัดเพียงครูสุขศึกษาและฝ่ายปกครอง

มุมมองใหม่วัยรุ่นไม่ใช่ตัวปัญหา

นอกจากวิธีการสอนที่เปลี่ยนไปแล้ว “ผมคิดว่าเพศวิถีศึกษาทำให้เราซอฟต์ลง” ครูสถาปนิกบอกว่าการได้เข้าใจเรื่องเพศว่าไม่ได้เป็นแค่เรื่องพฤติกรรมของบุคคลเพียงอย่างเดียว วัยรุ่นไม่ได้ต้องการสร้างปัญหาแต่ปัญหาเชื่อมโยงกับบริบทแวดล้อมและเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง พวกเขาอาจตัดสินใจผิดพลาดถ้าขาดข้อมูลอย่างเพียงพอ ไม่เคยถูกฝึกให้มีทักษะและความรู้เท่าทัน ถ้ามองแบบนี้วิธีที่ครูจะดูแลและจัดการปัญหาก็จะเปลี่ยนไปคือสร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพส่วนนักเรียนที่พลั้งพลาดก็มีโอกาสเรียนต่อ

สิ่งที่ครูเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งคือ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่เป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น “ถ้ำเป็นเมื่อก่อนเราจะมองเด็กที่ท้องในวัยเรียนว่าผิดไม่รักดีทั้ งครอบครัวโรงเรียน และคนรอบข้างพากันซ้ำเติมเด็กทำตัวไม่ดีก็นั่งเลี้ยงลูกไป ไม่ต้องเรียนหนังสือ เด็กก็โทษตัวเองรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ต้องขอบคุณกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ปัญหามีทางออกและคงต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจเพื่อให้ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันซึ่งเป็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ทุกฝ่าย” ครูสถาปนิกกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : เอกสารเผยแพร่โครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic Learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูสอนเพศวิถีศึกษาและ ทักษะชีวิตในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำโดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์,2563


หมวดหมู่

  • สุขภาวะทางเพศ